SCGP ปิดบวก 3% โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” เป้า 60 บ. ชี้ผลงาน Q2 โต รับกำลังผลิตเพิ่ม

SCGP ปิดบวก 3% โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” เป้า 60 บ. ชี้ผลงานไตรมาส 2/64 โต รับรู้รายได้จากธุรกิจ GoPak-SOVI และมีกำลังผลิตเพิ่ม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (28 มิ.ย.64) ราคาหุ้นบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ปิดภาคบ่าย อยู่ที่ระดับ 59 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 2.61% โดยทำจุดสูงสุดที่ 59.75 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 57.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.32 พันล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (25 มิ.ย.2564) โดยประเมิน SCGP ด้วยมุมมองอุปสงค์ในฝั่งเอเชียที่แข็งแกร่งและค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาเศษกระดาษปรับตัวขึ้น (RCP คือวัตถุดิบหลักสำหรับห่วงโซ่อุปทานของ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์) 61% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 269 เหรียญ สหรัฐฯต่อตัน ในขณะที่กระดาษบรรจุภัณฑ์ (ผลิตภัณฑ์หลักของ SCGP) ปรับตัวขึ้น 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ไปอยู่ที่ 518 เหรียญสหรัฐฯ (จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาพรวม) แต่ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน (ตามปัจจัยทางฤดูกาล)

โดยส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ลดลง 19% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 249 เหรียญสหรัฐฯ (แต่เพิ่มขึ้น 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบบูรณาการและกลยุทธ์ควบคุมต้นทุนของ SCGP ทำให้บริษัทมีแนวโน้มที่ดีกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามทางฝ่ายวิจัยคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของ SCGP ในส่วนของธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์จะอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อน ส่วนในไตรมาส 2/2564 จะไม่รุนแรงเท่ากับคู่แข่งโดยมีปัจจัยที่จะช่วยบรรเทากำไรที่อ่อนตัวคือ อุปสงค์ต่อกระดาษบรรจุภัณฑ์ (ใช้สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ไฟเบอร์) ที่ใช้เองประมาณ 27% ของกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด และความยืดหยุ่นในการจัดหา RCP โดยบริษัทเพิ่มสัดส่วนการจัดหาในประเทศ (ที่ราคาต่ำกว่า) และลดสัดส่วนการนำเข้า (ที่ราคาสูง)

ด้านอุปสงค์ต่อบรรจุภัณฑ์ในภาพรวมทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภค บริโภค และที่เกี่ยวกับสินค้าคงทนยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/2564 หนุนจากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจะส่งผลให้ SCGP สามารถปรับเพิ่มราคาขายเพื่อสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจึงคาดว่า ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะยังคงแข็งแกร่งในไตรมาส 2/2564

ขณะเดียวกันโดยปกติแล้วไตรมาสที่ 2 ของทุกปีจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย แต่การรับรู้ผลประโยชน์จากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในช่วงที่ผ่านมา (GoPak และ SOVI) และการเริ่มดำเนินงานของการขยายกำลังการผลิต (สายการผลิตที่ 7 ของ Visy ในเดือน มี.ค. และสายการผลิตที่ 1 ของโรงงาน FAJAR แห่งที่ 2 ในเดือน เม.ย.) จะหนุนให้กำไรหลักเติบโต จากงวดเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นจึงคาดว่ากำไรหลักไตรมาส 2/2564 ของ SCGP จะขยายตัวจากงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่อ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ SCGP มีแนวโน้มที่สดใสในปี 2565 จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศหลักที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ได้แก่ ประเทศไทย (GDP เติบโต 5.6%), ประเทศอินโดนีเซีย (5.8%), และประเทศเวียดนาม (7.2%) ซึ่งในปีหน้าการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวจะหนุนอุปสงค์ต่อบรรจุภัณฑ์ จากการศึกษาของทางฝ่ายวิจัยพบว่ายอดขายและกำไรหลักของ SCGP มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเติบโตของ GDP ของประเทศไทย (+96%/+64%), ประเทศอินโดนีเซีย (+71%/+62%), และประเทศเวียดนาม (+78%/+81%) ซึ่งแสดงถึงอัพไซด์ต่อการเติบโตของยอดขายและกำไรหลักของบริษัทในปี 2565 เพิ่มเติมจากการขยายกำลังการผลิตและรับรู้รายได้เต็มปีจากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในช่วงปี 2564 (ในประเทศเวียดนามเป็นหลัก)

นอกจากนี้ SCGP สามารถรายงานการเติบโตของยอดขายในปี 2563 ได้ถึงแม้ว่า GDP ของประเทศต่างๆ ดังกล่าวจะหดตัว ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 60 บาท

Back to top button