BCP จับมือ 11 พันธมิตร ก่อตั้ง Carbon Markets Club หวังลดก๊าซเรือนกระจก
กลุ่มบางจากฯเชิญชวนพันธมิตรรวม 11 องค์กรชั้นนำ ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club สนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัลเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประเทศต่างๆในโลกต้องร่วมกันพยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดนับเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็ยังทำได้ไม่เร็วพอ และในความเป็นจริงนั้น พลังงานฟอสซิลจะยังอยู่กับเราไปอีกหลายทศวรรษ ในขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสีเขียวยังต้องมีมาตรการอุดหนุนจากรัฐบาลหรือนำภาษีจากประชาชนมาสนับสนุนอยู่
การซื้อขายคาร์บอนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์นี้ โดยหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นผู้ผลิตหรือมีรายได้จากอุตสาหกรรมหนักหรือใช้พลังงานฟอสซิล ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผ่านการซื้อขายคาร์บอนหรือการจ่ายภาษีทางอ้อม เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายคาร์บอนไปอุดหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลให้เราเริ่มเห็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ non-tariff barriers จากประเทศต่างๆ เช่น European Green Deal เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ซึ่งการจัดตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club ในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายและโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ นี้ได้
โดยในวันนี้ ได้มีการจัดพิธีลงนาม MOU ในรูปแบบออนไลน์ระหว่างพันธมิตร 11 หน่วยงานที่ถือเป็นสมาชิกตั้งต้นหรือ founding members ของเครือข่ายฯ ในวันนี้ เป็นการรวบรวมองค์กรชั้นแนวหน้าของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการร่วมกันลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจผ่านการซื้อขายคาร์บอน ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
โดย 11 องค์กรพันธมิตรที่เป็นสมาชิกตั้งต้นของเครือข่าย Carbon Markets Club มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งการซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบซื้อขายกันโดยตรง (over the counter) อยู่ ซึ่งสมาชิกเครือข่ายฯ มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน
ในการพัฒนาการซื้อขายไปสู่ platform ระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ e-registration กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง ไปจนถึงการทำ e-carbon trading และนำ blockchain มาใช้ในการซื้อขายสู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า DeFi หรือ decentralized finance ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น
ในวันนี้ เครือข่ายฯ ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมแสดงความยินดีกับการก่อตั้งเครือข่ายฯ และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายเครือข่ายฯ ไปในวงกว้างขึ้น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียน รวมถึงบริษัทสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากภาคธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมด้วยในอนาคต
นอกจากนี้ กลุ่มสมาชิกตั้งต้นของเครือข่ายฯ ยังได้ทำการซื้อขายคาร์บอนเป็นปฐมฤกษ์ ทั้งคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER และเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) และมีบุคคลชื่อดังในวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล คุณท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และ คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรและผู้ผลิตสื่อ #beartai ร่วมซื้อคาร์บอนแบบบุคคล เพื่อเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองด้วย เป็นการร่วมสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่จำกัดอยู่เพียงในรูปแบบขององค์กรหรือบริษัทเท่านั้น ทุกคนล้วนมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ชีวิตประจำวัน และทุกคนสามารถมีส่วนช่วยลดผลกระทบได้
เริ่มจากการใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ และยังสามารถชดเชยผ่านการซื้อคาร์บอนได้อีกด้วย โดยในวันนี้มีการซื้อขายคาร์บอนรวม 2,564 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) เทียบได้กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 298,140 ต้นหรือ 1,491 ไร่ ซึ่งผู้ขายคาร์บอนเครดิตคือ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และผู้ขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และจะนำรายได้จากการจำหน่ายไปทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
“ผมเชื่อมั่นว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้เป็นเพียงก้าวแรกที่ทุกคนและทุกหน่วยงานจะได้ประสานความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนทั้งในรูปแบบองค์กรและบุคคล เป็นวิธีหนึ่งที่จะนำพาเราไปสู่สังคม Net Zero หรือสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และทำให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นครับ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจผู้นำนวัตกรรมสีเขียวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ดำเนินงานใน 5 ธุรกิจหลักคือ 1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน เป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย 2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ช่องทางหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสถานีบริการของบริษัทฯ กว่า 1,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ Non – oil ผ่านธุรกิจต่างๆ เช่นกาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio 3) กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขอ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG
ประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพและน้ำ ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาว 4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ธุรกิจปิโตรเลียม ผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ และธุรกิจเหมืองลิเทียม ผ่านการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp. (LAC) ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองลิเทียมในประเทศอาร์เจนติน่าและสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว (Green Ecosystem) ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ