ครม.เคาะแผนเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการ “ร้านอาหาร-แคมป์ก่อสร้าง” 6 จังหวัด

ครม.เห็นชอบจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้าง-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ใน 6 จังหวัด


นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือกลุ่มแรงงานในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรม กิจการร้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ รวมถึงกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยมีระยะเวลาช่วยเหลือ 1 เดือน

ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือลูกจ้างสัญชาติไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่

สำหรับกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน ส่วนลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน

ส่วนกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค.2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้รัฐบาลยังเดินหน้ามาตรการต่างๆ ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ ทั้งโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหาร ในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้บริการอาหารจากภัตตาคาร ร้านอาหาร และร้านอาหารรายย่อย เพื่อดูแลคนงานในแคมป์ก่อสร้าง

นายอนุชา ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ ผับบาร์ และสถานบันเทิง รวมถึงผู้ประกอบอาชีพศิลปินอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้หามาตรการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการยกระดับมาตรการใน 6 จังหวัดนั้น นายอนุชา กล่าวว่า การปิดแคมป์คนงานนั้นพบว่ามีคนงานจำนวนน้อยที่เดินทางกลับต่างจังหวัด เนื่องจากยังไม่ทราบมาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือ ดังนั้น การใช้คำว่าผึ้งแตกรังคงไม่ถูกเพราะใช่ทั้งหมด ขณะที่กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการเยียวยา และฝ่ายความมั่นคงจะเข้าไปดูแลชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงอาหารการกิน และจะจ่ายเงินค่าแรงเป็นเงินสดในทุกๆ 5 วัน ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นอย่างดีในการดูแลแคมป์คนงาน

ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มีการประสานในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยจะต้องมีการกักตัว รายงานตัวกับผู้นำชุมชน หรือ อสม.

ขณะที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าร้านอาหารไม่ได้เป็นคลัสเตอร์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดแต่กลับมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานในร้านนั้น นายอนุชา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ศบค.ผ่อนคลายให้มีการนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ แต่เมื่อมีการสอบสวนโรคพบว่าผู้ติดเชื้อหลายรายมาจากการไปนั่งรับประทานในร้าน ถอดหน้ากากอนามัย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อและนำเชื้อกลับไปแพร่ให้กับคนที่บ้าน ดังนั้น คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขจึงเสนอมาตรการดังกล่าว โดยหวังว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือเพื่อช่วยให้ตัวเลขลดลง

อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงกรณีที่บริษัทเอกชนหลายแห่งเริ่มการ์ดตก ลดการทำงานในรูปแบบ Work from home และในสถานที่ทำงานยังถือว่ามีความเสี่ยงการระบาดค่อนข้างสูง จึงอยากขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้พนักงาน WFH  โดยในส่วนของหน่วยราชการได้กำชับให้พิจารณาอย่างเข้มงวดในการ WFH จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นแตะ 5,000 ราย สะท้อนว่า ไม่สามารถชะลอ หรือยับยั้งการแพร่ระบาดได้ใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า มาตรการต่างๆที่รัฐบาลประกาศออกมาทั้งเรื่องเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดภาคใต้ ,การควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานและโรงงาน มาตรการห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหารนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาด เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจว่ามาตรการต่าง ๆ จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Back to top button