AMATA เชื่อแผนเปิดประเทศ หนุนลงทุนปลายปี คงเป้าขายที่ดินปีนี้ 950 ไร่
AMATA เชื่อแผนเปิดประเทศ หนุนลงทุน-กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี คงเป้าขายที่ดินปีนี้ 950 ไร่ รองรับกลุ่มอุตฯ ขยายตัว พร้อมพัฒนาสู่ “สมาร์ทชิตี้”
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินในปี 64 อยู่ที่ 950 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่พร้อมรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 10,000 ไร่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมทางการเกษตร และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทชิตี้ (Smart City)
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายการปลดล็อกผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เพื่อเปิดประเทศใน 120 วัน นับจากวันที่ 1 ก.ค.64 ถือเป็นนโยบายที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อทิศทางการลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐในการบริหารจัดการการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรในประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่มีความประสงค์ที่จะเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“การออกมาตรการเปิดประเทศใน 120 วัน ถือเป็นนโยบายที่มีความท้าทายของรัฐบาลในการเดินหน้าประเทศอีกครั้ง แต่สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้ตามเป้าหมายภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่เหลือที่ประเมินจากจำนวนวัคซีนที่รัฐบาลมี 105.5 ล้านโดส ถือว่ามีความเป็นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการรัฐบาลในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศทั้งด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม” นายวิบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่า หากเป็นไปตามแผนของรัฐบาล ก็จะสามารถกระตุ้นการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ได้ ซึ่งสอดรับกับแผนการตลาดของบริษัทที่ลูกค้าเข้ามาตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 30 ปี จากที่ผ่านมามีการใช้วิธีการเจรจากับลูกค้าผ่านระบบออนไลน์เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดในพื้นที่ดินให้กับลูกค้าแต่ก็สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการตัดสินใจซื้อที่ดินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกลุ่มลูกค้าต้องเดินทางเข้ามาศึกษาพื้นที่จริง ก่อนตัดสินใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูง
อย่างไรก็ตาม โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่รัฐบาลจะใช้เป็นต้นแบบในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในพื้นที่แรก จะเป็นตัวพิสูจน์เรื่องมาตรการควบคุมการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ผลมากน้อยแค่ไหน หากประสบความสำเร็จจังหวัดต่างๆ จะนำแนวทางไปใช้วางกรอบการเปิดพื้นที่เพื่อรองการเดินทางเข้าจังหวัด โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่ให้ได้ตามมารฐานสาธารณสุขด้วยเช่นกัน