สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 ก.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 ก.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานที่ดิ่งลงหลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนัก และหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลดลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากตลาดพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,577.37 จุด ลดลง 208.98 จุด หรือ -0.60% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,343.54 จุด ลดลง 8.80 จุด หรือ -0.20% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,663.64 จุด เพิ่มขึ้น 24.32 จุด หรือ + 0.17%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) หลังบวกขึ้น 3 วันติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาและพากันเข้าซื้อพันธบัตรท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 455.98 จุด ลดลง 2.38 จุด หรือ -0.52%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,507.48 จุด ลดลง 60.06 จุด หรือ -0.91%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,511.38 จุด ลดลง 150.59 จุด หรือ -0.96% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,100.88 จุด ลดลง 64.03 จุด หรือ -0.89%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) สู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ โดยหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ถ่วงตลาดลง และเงินปอนด์ที่แข็งค่ากดดันหุ้นกลุ่มส่งออกด้วย
ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,100.88 จุด ลดลง 64.03 จุด หรือ -0.89%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลหลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน จนเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการประชุมโดยไม่มีกำหนด
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 1.79 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 73.37 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. ดิ่งลง 2.63 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 74.53 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 10.9 ดอลลาร์ หรือ 0.61% ปิดที่ 1,794.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 32.7 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 26.174 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 3.7 ดอลลาร์ หรือ 0.34% ปิดที่ 1,084 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 3.60 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 2,796.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) หลังมีรายงานว่ายอดสั่งซื้อสินค้าในภาคการผลิตของเยอรมนีร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ในวันนี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.37% แตะที่ 92.5490 เมื่อคืนนี้
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1823 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1868 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3800 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3852 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7496 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7531 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9247 ฟรังก์ จากระดับ 0.9219 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2461 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2334 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 110.61 เยน จากระดับ 110.89 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลเยอรมนี (FSO) เปิดเผยวานนี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีร่วงลง 3.7% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรกในปี 2563 โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศนอกเขตยูโรโซน