เลขาสมช. ชี้! ล็อกดาวน์คุมโควิด ทำปชช.กระทบหนัก ขอประเมิน 15 วัน หารือสาธารณสุข

“เลขาสมช.” ระบุ ศบค. จะพิจารณาล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หากกระทรวงสาธารณสุขเสนอมา ส่วนมาตรการแบบใด จะต้องหารือกันอีกครั้ง เบื้องต้นขอเวลาประเมิน 15 วัน


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ 7 ก.ค. 2564  ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเสนอให้ ศบค.ล็อกดาวน์  เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นต่อเนื่อง ว่า ได้ยินมาเช่นเดียวกัน  แต่ตอนนี้รอข้อเสนออย่างเป็นทางการ และรับฟังความเห็น จากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนเป็นลำดับแรก  โดย ศบค.พร้อมรับไว้พิจารณาอยู่แล้ว จากนั้น จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ พร้อมอยากทำความเข้าใจกับคำว่า “ล็อกดาวน์” ว่าหมายความว่าอย่างไร ถ้าเป็นเหมือนช่วงเดือน เม.ย. 2563  คือการล็อกดาวน์จริง เพราะรวมถึงการเคอร์ฟิวด้วย  แต่หลังจากนั้น ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการปิดกิจการและจำกัดการเคลื่อนย้าย ฉะนั้น ถ้าใช้คำว่าล็อกดาวน์ ในขณะนี้ที่เป็นการปิดบางกิจการ  คนจะเข้าใจว่า เหมือนช่วงเดือน เม.ย.2563  ซึ่งความหมายผิดเพี้ยนไป

ส่วนจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 12 ก.ค. นี้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล  ระบุว่า ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้น ก็อาจจะพิจารณาเร็วกว่านั้น  แต่ถ้ายังเป็นลักษณะขึ้นลงแบบนี้ อาจรอดูสถานการณ์ให้ครบ 15 วัน เพื่อประเมินครั้งเดียว แล้วดูให้ครบถ้วน พร้อมทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย  เช่น ควบคุมการเคลื่อนย้าย การแก้ปัญหารักษาพยาบาลเรื่องเตียงไม่พอ ไม่ใช่ว่าจะนั่งรอดูตัวเลขเฉยๆ

ทั้งนี้ หากจะประกาศล็อกดาวน์ จะเน้นเข้มข้นในพื้นที่แพร่ระบาด ทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หรือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นๆจะมีมาตรการเสริม ฉะนั้นต้องลดหลั่นไปตามเหมาะสมพร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เลี่ยงคำว่าล็อกดาวน์  แต่ความหมายต้องชัดเจน  คำว่า ล็อกคือไม่ให้ไปไหน แต่ช่วงหลังให้ไปไหนมาไหนได้  เมื่อใดที่ต้องใช้คำว่าล็อกดาวน์ หรือทำบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ ต้องระบุให้ชัดเจน

ขณะเดียวกันการล็อกดาวน์ช่วงเดือน เม.ย. 2563 ได้ผล จึงมีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์ขึ้นมาอีกครั้งนั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ผู้ประกอบการหาเช้ากินค่ำ หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำเดือดร้อนมาก  ถ้าทำอย่างนั้น คนจะเดือดร้อนจำนวนมาก ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้แจ้งข้อมูลในช่วง เม.ย.2563 ว่าใช้งบประมาณเยียวยา เดือนละเกือบ 3 แสนล้าน  ถ้าทำอีกจะต้องหางบประมาณมาเยียวยาประชาชนอีกมาก  ซึ่งในข้อเท็จจริง แม้จะใช้งบถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท ก็ยังไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทั่วถึง  ทาง ศบค.คำนึงผลกระทบตรงนี้ที่มีต่อประชาชน จึงให้บางส่วนยังหากินได้  ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดคือสิ่งที่ดีที่สุด และหากจะทำต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทั้งหมด ถ้ากระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ต้นเหตุคือทั้งหมดทุกส่วนก็จำเป็นต้องล็อกดาวน์

ส่วนมาตรการขอความร่วมมือ เวิร์ก ฟอร์ม โฮม แต่ยังไม่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์นั้น  พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ข้อกำหนดทุกฉบับที่ออกมา จะเน้นว่าให้ทำงานที่บ้านสูงสุด แต่ส่วนราชการบางส่วน มีภารกิจบริการประชาชน บางส่วนมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน บางส่วนมีหน้าที่ด้านความมั่นคง ที่จำเป็นต้องมาทำงาน โดยรัฐบาลและ ศบค.ย้ำเสมอว่า เมื่อมาทำงานต้องระวัง และที่ผ่านมา หน่วยงานที่ขอความร่วมมือแต่ยังปฏิบัติไม่เต็มที่ คือภาคเอกชน.

Back to top button