พรีวิวงบ “แบงก์” ไตรมาส 2/64 โบรกฯ ยก BBL ท็อปพิก กำไรโตทะลัก 80%
พรีวิวงบกลุ่ม "แบงก์" งวดไตรมาส 2/64 โบรกฯชู BBL ท็อปพิก กำไรโตทะลัก 80% แตะ 5.5 พันลบ.
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลหลังเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/64 ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในไทย โดยกลุ่มธุรกิจแรกที่มักจะประกาศออกมาคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยประกาศภายในช่วงสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดว่ากําไรสุทธิไตรมาส 2/64 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 4% จากไตรมาสก่อน (16% ถ้าตัดกําไรจากเงินลงทุนใน TIDLOR ของ BAY ออกไป) แต่จะเพิ่มขึ้น 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (29% ตัดกําไรจากเงินลงทุน ใน TIDLOR ของ BAY ออกไป)
โดยยกเว้น BAY ที่รับรู้กําไรจำนวนมากจาก TIDLOR คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะรายงานกําไรสุทธิลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยเกิดจากการตั้งสํารองเพิ่มขึ้น และ non-NII ที่ลดลง ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่ากําไรจะฟื้นตัวได้ดีโดยเกิดจากการตั้งสํารองลดลงและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยสรุปประเด็นสำคัญจากพรีวิวผลประกอบการไตรมาส 2/64 ดังนี้
1) การตั้งสํารอง: คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะมีระดับการตั้งสํารองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่จะลดลงจากปีก่อน คาดว่า credit cost จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนในไตรมาส 2/64 เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19
2) การเติบโตของสินเชื่อ: สินเชื่อเติบโต 1% QTD (ณ เดือนพ.ค.) ในไตรมาส 2/64 แข็งแกร่งกว่าการเติบโตของสินเชื่อในไตร 1/64 ที่ 0.8% จากไตรมาสก่อน
3) NIM: คาดว่า NIM จะอยู่ในระดับทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่จะลดลงจากปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อที่ลดลง
4) Non-NII: คาดว่า non-NII จะลดลงจากไตรมาสก่อนในช่วงไตรมาส 2/64 โดยมีสาเหตุมาจากกิจกรรมทางธุรกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงที่เกิดการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง (แต่ยังแข็งแกร่ง) และกําไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและเงินลงทุนที่ลดลง
5) Opex: คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะยังคงควบคุม opex อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/64 ยกเว้น TTB ที่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการควบรวม กับ TBANK กลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ธปท. อนุญาตให้ธนาคารต่างๆ กลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดําเนินงานในงวดครึ่งแรกของปี 64 ได้ไม่เกิน 50% ของกําไรสุทธิงวดครึ่งปีแรก
โดยคาดว่าธนาคารต่างๆ จะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ไม่น่าสนใจสำหรับงวดครึ่งแรกของปี โดยคาดว่าจะมีเพียง TCAP (ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท.) ที่จะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ ประมาณการกําไรปี 2564 มีความเสี่ยง downside ตํ่า แม้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 แต่เชื่อว่าสมมติฐานระดับการตั้งสํารองในปี 2564 เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดังกล่าว credit cost ในไตรมาส 1/64 ของกลุ่มธนาคารที่ 1.4 7% (ซึ่งรวมเอาผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 เข้ามาแล้วบางส่วน) ตํ่ากว่าประมาณการเต็มปีที่ 1.65% (เทียบกับ 1.9% ในปี 2563) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประมาณการกําไรปี 2564 มีความเสี่ยง downside ตํ่า คาดว่ากําไรสุทธิงวดครึ่งหลังของปีนี้ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 18% จากครึ่งปีแรก
สำหรับปี 2564 คาดว่ากําไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 20% โดยธนาคารจะตั้งสํารองลดลงเล็กน้อยหลังจากเร่งตั้งสํารองเพิ่มในปี 2563 การเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลง NIM จะลดลงเพราะผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อลดลง (ผลกระทบเต็มปีจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้) non-NII ทรงตัว และควบคุม opex อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 2565 คาดว่ากําไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะเติบโต 8% จากการตั้งสํารองลดลง ขณะที่จะมีตัวถ่วงจากการปรับอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 23 bps กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46%
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะขยาย ระยะเวลาการลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ ออกไปอีกเพื่อ ช่วยเหลือธนาคาร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดหรือส่วนใหญ่จะต้องส่งผ่านไปยังลูกค้าด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ถ้ามีการขยายระยะเวลาการลดอัตรานําส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ 23 bps ออกไปโดยไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก
โดยประมาณการกําไรปี 2565 จะมี upside ราว 14% อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดหรือส่วนใหญ่จะต้องส่งผ่านไปยังลูกค้า ดังนั้นผลกระทบต่อประมาณการจะมีน้อยมาก Valuation ไม่แพง SETBANK ปรับตัวลดลง 14% (เทียบกับ SET ที่ -1%) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ไปเรียบร้อยแล้วและ valuation ไม่แพง เชื่อว่านักลงทุนหันมาโฟกัสมากขึ้นกับการฟื้นตัวในปี 2565 หลังจากกระจายวัคซีนโควิด-19 พร้อมเลือก BBL เป็น top pick ของกลุ่มธนาคาร เพราะกําไรจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตสูงที่สุด
ด้านหลักทรัพย์ กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์กำไรปกติของกลุ่มธนาคาร โดยมองว่ามี 6 ธนาคารที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ BAY คาดรายงานกำไรไตรมาส 2 ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านบาท เติบโต 73.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, BBL คาดรายงานกำไรที่ระดับ 5.55 พันล้านบาท เติบโต 79.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
รวมถึง KKP คาดรายงานกำไรที่ 1.43 พันล้านบาท เติบโต 21.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, KTB คาดรายงานกำไรที่ 4.86 พันล้านบาท เติบโต 26.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, TISCO คาดรายงานกำไรที่ 1.51 พันล้านบาท เติบโต 13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, TTB คาดรายงานกำไรที่ 1.94 พันล้านบาท เติบโต 24.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มโดยรวม เนื่องจาก 1.มีมูลค่าหุ้นที่ไม่แพง ซื้อขายกันที่ -25D ต่อค่าเฉลี่ย PBV และคิดเป็นระดับค่าเฉลี่ย PBV ในช่วงวิกฤตปี 51-52
2.คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวขึ้น และ 3.มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ดี ในกรอบ 5-8% สำหรับปี 65-66
พร้อมยกหุ้นเด่น 2 ตัวคือ KKP ราคาเป้าหมาย 72 บาท และ BBL ราคาเป้าหมาย 157 บาท