นลท.จับตา “พาวเวล” แถลงสภาคองเกรส คาดส่งสัญญาณขึ้นดบ. – ลด QE

นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตา “เจอโรม พาวเวล” แถลงการณ์รอบครึ่งปี คาดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย และปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 14 ก.ค. และแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 ก.ค.

โดยที่ผ่านมา ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ประธานเฟดมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนก.พ. และอีกครั้งในเดือนก.ค.

สำหรับการแถลงของนายพาวเวลในสัปดาห์นี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเขาอาจส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังจากที่รายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนมิ.ย.ระบุว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงิน QE พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมถึง 1 ปี และเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีดังกล่าว

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของนายพาวเวลมีผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นหลังจากที่นายพาวเวลแถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและครอบคลุม และเฟดจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วเกินไป

“ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าเฟดจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเรามองว่าการดีดตัวของเงินเฟ้อเป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากการเปิดเศรษฐกิจของสหรัฐ เราจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรเพียงเพราะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเพียงปัจจัยเดียว แต่เราจะรอให้มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อหรือภาวะไร้สมดุลในด้านอื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใดๆเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย” นายพาวเวล กล่าว

Back to top button