“หุ้นเอเชีย” ผันผวน! วิตกเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง กดดัน “เฟด” เร่งขึ้นดบ.

“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดผันผวน นักลงทุนกังวล “เฟด” เร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชีย เปิดผันผวนในเช้าวันนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย.อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสในวันนี้และวันพรุ่งนี้

โดยดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,560.83 จุด ลดลง 5.69 จุด หรือ -0.16%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,517.31 จุด ลดลง 200.93 จุด หรือ -0.70% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 27,965.39 จุด เพิ่มขึ้น 1.98 จุด หรือ +0.007%

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%

ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2566 หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาดเมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ จากการใช้เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2566 ขณะที่มีแนวโน้ม 90% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.2565

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ (14 ก.ค.) และแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.)

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึง ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ชนีการผลิตเดือนก.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นต้นเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

Back to top button