“กูรูเศรษฐกิจ” ยกขบวนหั่น GDP ไทยปี 64 ประสานเสียงวิกฤต “โควิด” ลากยาว!

"กูรูเศรษฐกิจ" ยกขบวนหั่น GDP ไทยปี 64 ประสานเสียงวิกฤต "โควิด" ลากยาว ฉีดวัคซีนล่าช้า กระทบต่อเศรษฐกิจ หลังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง


นับตั้งแต่ช่วงเดือเม.ย.2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัวโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID) อย่างหนักหน่วง จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงทุกวัน โดยล่าสุดวันนี้ (18 ก.ค.2564) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 11,397 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมเป็น 374,523 ราย (นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564) และมีผู้เสียชีวิต 101 ราย และยังคงมีผู้ติดเชื้อที่กำลังรอเตียงรักษาตกค้างอยู่อีกมากมาย

ทั้งนี้ในช่วงเดือนมิ.ย. – ก.ค.2564 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สำนักวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจหลากหลายสำนักทั้งของประเทศไทยและต่างชาติได้ทยอยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศไทย ปี 2564 อย่างต่อเนื่อง โดยผู้สื่อข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลดังนี้

โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย.2564 Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ออกมาปรับลดประมาณการ GDP ปี 64 เหลือขยายตัว 1.9% จากเดิมที่ประเมินไว้ 2% สาเหตุมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาราว 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค. 2564) ในการควบคุมการระบาดส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ลดลงมากจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และประชาชนเริ่มมีการระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อที่ค่อนข้างอ่อนแอ จากรายได้ของประชาชนที่ลดลง ทำให้การบริโภคในประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปี 2564 ลงเหลือ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าลงเหลือ 3.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% ตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า

อีกทั้งช่วงต้นเดือนก.ค.2564 สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือ 1.3% ลงจากเดิม 1.9% และปี 65 ปรับลดจาก 5.1% เหลือ 4.2% หลังการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 มีแนวโน้มยาวนาน ประกอบกับการฉีดวัคซีนล่าช้า หรือวัคซีนยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ มีผลต่อเนื่องให้การระบาดของโควิด-19 ระลอกอื่นๆ กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

ต่อเนื่องด้วยคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0% ถึง 1.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ราว 0.5% ถึง 2% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐบาล

ศูนย์วิจัย krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ ลงเหลือโต 0.50-1.30% จากเดิมที่คาดจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 0.80-1.60% (ในเดือนพ.ค.2564) เนื่องด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยพบยอดผู้ติดเชื้อสูงกว่าประมาณการณ์ในครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาก็ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าที่คาดไว้

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฯ ยังมองว่าการระบาดครั้งนี้จะมีความยืดเยื้อ หรือลากยาวออกไป โดยอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างน้อยไปจนถึงเดือนก.ย.แต่คาดหวังว่าในเดือน ต.ค.64 เศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวดีขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 ลดลงมาเหลืออขยายตัว 1% จากเดิมที่ 1.8% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมิน ส่งผลกระทบให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมีมากขึ้น และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม ขณะที่มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐคาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชน แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม

ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 ลงเหลือ 2.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ระดับ 3.4% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อไปอีกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 ทาง โกลด์แมน แซคส์ ก็ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2564 ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตาซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปรับลด GDP ไทยในปี 2564 ลงสู่ระดับ 1.4% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.1%

 

Back to top button