RATCH ควัก 259 ลบ.เพิ่มทุนบ.ย่อย “สปป.ลาว” รับแผนขยายธุรกิจ “พลังงาน-สาธารณูปโภค”

RATCH ทุ่มเงิน 259 ลบ.เพิ่มทุนบริษัทย่อย “สปป.ลาว” เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ “พลังงาน-สาธารณูปโภค” พร้อมตั้งเป้าพัฒนาโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม


นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทลงเงินจำนวน 259 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนในบริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ RATCH ถือหุ้นทั้งจำนวน สำหรับใช้ขยายการลงทุนโครงการด้านพลังงาน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและอื่นๆ ที่มีศักยภาพใน สปป.ลาว เนื่องจาก ราช-ลาว เซอร์วิส ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 78 ล้านบาท เป็น 462 ล้านบาท โดยมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วประมาณ 337 ล้านบาท

โดย สปป.ลาว ถือเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญของ RATCH โดยมี ราช-ลาว เซอร์วิส เป็นแกนหลักในการแสวงหาโอกาสและการลงทุนในสปป.ลาว ที่ผ่านมา ราช-ลาว ได้ลงทุนในโครงการต่างๆ รวมมูลค่ามากกว่า 1,200 ล้านบาท ได้แก่ การเข้าถือหุ้น 5.65% ใน บมจ.ผลิต-ไฟฟ้าลาว (EDL-Gen), การร่วมทุนในบริษัท เอเชีย วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำประปาจำหน่ายให้แก่การประปานครหลวงเวียงจันทน์ 40% และการร่วมทุนในบริษัท สีพันดอน ราช-ลาว จำกัด 25% เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการเชื้อเพลิงชีวมวล และธุรกิจบริการสุขภาพด้วย

เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการลงทุนพัฒนาและเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ตั้งอยู่ในเมืองมูนละปาโมก แขวงจำปาสัก และพัฒนาการเพาะปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่สัมปทานประมาณ 30,000 ไร่ ซึ่งมีบริษัท สีพันดอน ราช-ลาว จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานโดย ราช-ลาว ร่วมลงทุน 25%

โดยโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/65 โดยจะส่งออกให้กับบริษัท Kyuden Mirai Energy Co., Ltd (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Kyushu Electric Power Company Incorporated ประเทศญี่ปุ่น) ในปริมาณ 100,000 ตันต่อปี ภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว 15 ปี

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเจรจากับลูกค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นรายอื่นๆ เพื่อขยายกำลังการผลิตในระยะที่ 2 รองรับความต้องการชีวมวลอัดแท่งในช่วงปี 65-85 ที่สูงราว 8,000,000 ตันต่อปี ตามนโยบายด้านพลังงานทดแทนของประเทศญี่ปุ่น” นายกิจจา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ Kyuden Mirai Energy Co., Ltd. (KME) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนถือหุ้น 20% ในบริษัท สีพันดอน ราช-ลาว จำกัด และมีข้อตกลงจะซื้อชีวมวลอัดแท่งของโครงการฯ ปริมาณ 100,000 ตันต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี สำหรับ KME ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นและมุ่งหมายจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่รับผิดชอบ ภายใต้แนวคิด “การใช้ทรัพยากรชีวมวลหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด” (Biomass Resource Recycling Concept)

นอกจากนี้ ราช-ลาว เซอร์วิส ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกด้วย

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บริษัทร่วมกับบริษัท สักสิด ที่ปรึกษาและการค้า จำกัด และรัฐบาล สปป.ลาว ศึกษาพื้นที่และความเป็นไปได้ในการปลูกไม้อุตสาหกรรม และก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดในเมืองสะหม้วย แขวงสาละวัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

Back to top button