เปิดผนึก! ผลงานครึ่งปีแรก “ก.ล.ต” ลงดาบ “ผู้บริหาร-บริษัท”
เปิดผนึก! ผลงานครึ่งปีแรก ก.ล.ต. กรณี “กล่าวโทษ-เปรียบเทียบปรับ-ลงโทษทางแพ่ง” ผู้บริหาร-บริษัทจดทะเบียนที่กระทำผิดในวงการตลาดทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านไปแล้วกับช่วงครึ่งแรกปี 2564 ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังคงสวมบทบาทตรวจสอบระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของบริษัทจดทะเบียน, ผู้บริหารบริษัท, บริษัทหลักทรัพย์, มาร์เก็ตติ้ง และกลุ่มนักลงทุน เพื่อป้องกันผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่างในการกระทำความผิดในวงการตลาดทุนต่อไป
ทั้งนี้จากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายอย่างส่วนของการกล่าวโทษ, การเปรียบเทียบ และมาตรการลงโทษทางแพ่ง เป็นต้น โดยการหยิบยกมานำเสนอไว้ให้เป็นกรณีศึกษา และค่อยเตือนสติทุกฝ่ายไม่ให้กระทำความผิดอย่างเคสกรณีก่อนหน้าให้มาเป็นเยี่ยงอย่าง
สำหรับกรณีการกล่าวโทษ ส่วนของกรรมการและผู้บริหาร บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH เนื่องด้วยในช่วงปี 2559 ถึงปี 2560 ทางกรรมการและผู้บริหาร “RICH” 3 ราย ได้แก่ 1) นางสาวอังคกาญจน์ ตันติวิรุฬห์ (2) นายสมเกียรติ วงศาโรจน์ และ3) นายธีระ ผลเจริญสุข ได้ร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์สินของ RICH เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยอนุมัติและสั่งการให้ RICH จ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อสินค้าให้กับคู่ค้าโดยไม่ได้รับสินค้า และขายสินค้าให้คู่ค้าโดยไม่ได้รับชำระค่าสินค้า
โดยมีการสมยอมในการดำเนินคดี ซึ่งเป็นเหตุให้ RICH บันทึกบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเกือบเต็มจำนวนในงบการเงินปี 2559 และส่วนที่เหลือในงบการเงินงวดถัดไป อันเป็นการลงข้อความเท็จในงบการเงิน และทำให้ RICH เสียหายมูลค่ารวม 1,159.42 ล้านบาท
ขณะเดียวกันการกระทำดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากบริษัทคู่ค้าและกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทคู่ค้าดังกล่าวรวม 8 ราย ได้แก่ 1) บริษัท เบเนฟิท บลู จำกัด (2) นายสราวุฒิ พูลทวีธรรม กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เบเนฟิท บลู จำกัด (3) บริษัท ชัยชนะ สตีล จำกัด (4) นายชนินทร์ หอประเสริฐวงศ์ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ชัยชนะ สตีล จำกัด (5) บริษัท เอ็มไพร์ สตีล เซ็นเตอร์ จำกัด (6) นางสาวกัลยา เกตุสิงห์ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เอ็มไพร์ สตีล เซ็นเตอร์ จำกัด (7) บริษัท อาร์. เอส. ดี. สตีล จำกัด และ8) นางสาวศุภิสรา หอประเสริฐวงศ์ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อาร์. เอส. ดี. สตีล จำกัด
ส่วนรายละเอียดการดำเนินการอยู่ระหว่างดำเนินการของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
รวมถึงการกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร บริษัท โกลบอลกรีน เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC โดยระหว่างปี 2557 – 2561 มีทางนายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ “GGC” และนายวัลลภ เทียนทอง ขณะเกิดเหตุเป็นผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการตลาด การขาย และจัดซื้อวัตถุดิบ ได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากคู่ค้า 9 ราย ได้แก่ 1) บริษัท อนัตตา กรีน จำกัด (2) นายพลลภัตม์ ศรีวิศาลวงษ์ (3) บริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด (4) บริษัทยูนิตี้ ปาล์ม ออยล์ จำกัด (5) นายบรม เอ่งฉ้วน (6) บริษัท จีไอ กรีน ปาล์ม ออยล์ จำกัด (7) นางธนิภา พวงจำปา (8) บริษัท โอพีจีเทค จำกัด และ 9) นายเศรษฐ์ฐ พัฒนมาศ
โดยในการดำเนินการให้ GGC ซื้อวัตถุดิบและจ่ายชำระเงินค่าซื้อเต็มจำนวนให้แก่ผู้ขายโดยไม่ได้รับวัตถุดิบทั้งหมดหรือได้รับเพียงบางส่วน แต่กลับลงบันทึกในระบบบัญชีของบริษัทว่าได้รับวัตถุดิบครบถ้วนแล้ว รวมทั้งมีการจ้างกลั่นวัตถุดิบโดยไม่ได้มีการกลั่นจริง อันเป็นการทุจริตจนเป็นเหตุให้ GGC ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2,157 ล้านบาท
ส่วนรายละเอียดการดำเนินการอยู่ระหว่างดำเนินการของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
ตามด้วยกรณีการเปรียบเทียบ โดยผู้ถูกดำเนินการ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ช่วงวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ถึง 1 มิ.ย. 2563 ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด ผลกระทำความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเป็นเงิน 2.69 ล้านบาท
ต่อมาในช่วงวันที่ 25 ธ.ค.2561 ถึงวันที่ 22 พ.ค. 2563 ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่ได้รายงานการคำนวณ NC เมื่อบล.เออีซี มี NC เท่ากับหรือน้อยกว่า 1.5 เท่าของ NC ขั้นต่ำที่บล.เออีซี ต้องดำรงไว้ และนำส่งรายงานการดำรง NC รายเดือนต่อสำนักงานไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ผลกระทำความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเป็นเงิน 2.63 ล้านบาท
ขณะเดียวกันวันที่ 28 ธ.ค.2561 ถึงวันที่ 25 พ.ค. 2563 ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่ได้จัดทำและยื่นแผนการแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่อสำนักงานภายในเวลาที่กำหนด และไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในกรณีที่ไม่สามารถดำรง NC ได้ตามที่ประกาศกำหนด ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเป็นเงิน 1.14 ล้านบาท
ทั้งนี้จากสามรายการการกระทำความผิดของ AEC โดยมีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6.45 ล้านบาท
รวมทั้งการเปรียบเทียบกรณีในบริษัท เอสวีไว จำกัด (มหาชน) หรือ SVI โดยผู้ถูกดำเนินการ นายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ในช่วงระหว่างวันที่ 13 ธ.ค.2559 ถึง 26 ธ.ค.2561 เป็นช่วงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการของ SVI มีการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ SVI แต่นายพงษ์ศักดิ์รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ดังกล่าวตามแบบ 59-2 ต่อสำนักงานล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด โดยเป็นความผิดจำนวน 75 กระทง ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 1.19 ล้านบาท
ถัดมาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2560 นายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ได้มาซึ่งหุ้น SVI ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท Eagle Mount Asia Equities Limited เป็นผลให้มีจำนวนการถือครองหุ้น SVI รวมกันแล้วข้ามจุดทุกร้อยละห้าของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการจำนวน 1 ครั้ง แต่นายพงษ์ศักดิ์ไม่ได้รายงานการได้มาซึ่งหุ้น SVI ที่กล่าวข้างต้นต่อสำนักงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 640,500 บาท
รวมทั้งเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 บริษัท Eagle Mount Asia Equities Limited ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นแทนนายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ได้มาซึ่งหุ้น SVI จำนวน 850,000 หุ้น ทำให้นายพงษ์ศักดิ์มีจำนวนการถือครองหุ้น SVI ในนามตนเองและบุคคลอื่นที่เกิดหน้าที่ทำคำเสนอซื้อตามมาตรา 247 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ แต่นายพงษ์ศักดิ์มิได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ กล่าวคือ มิได้รายงานการถือครองหุ้น SVI ที่ถืออยู่ทั้งหมดตามแบบ 246-2 พร้อมทั้งมิได้ยื่นประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามแบบ 247-3 ตลอดจนมิได้ยื่นคำเสนอซื้อหุ้น SVI ตามแบบ 247-4 ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 7.04 ล้านบาท
ทั้งนี้จากสามรายการการกระทำความผิดของ นายพงษ์ศักดิ์ โล่ทองคำ โดยมีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8.87 ล้านบาท
ขณะที่การเปรียบเทียบกรณีในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG โดยผู้ถูกดำเนินการ นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ขณะเกิดเหตุ) ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของ “NMG” มีหน้าที่กำกับดูแลให้ NMG จัดทำและนำส่งงบการเงินประจำปี 2561 ช่วงจัดทำและทำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2562 และไตรมาส 2/2562 ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด แต่นายสมชายไม่สั่งการและไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ ต้องรับผิดกรณี NMG จัดทำและนำส่งงบการเงิน ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงินรวมทั้งสิ้น 366,900 บาท
นอกจากนั้นยังมีการดำเนินการเปรียบเทียบตัวบริษัท โดยบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ NMG มีหน้าที่จัดทำและนำส่งงบการเงินประจำรอบปีบัญชี 2561 ช่วงจัดทำและทำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2562 และไตรมาส 2/2562 ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ NMG นำส่งงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงินรวมทั้งสิ้น 458,625 บาท
ต่อเนื่องมาที่การเปรียบเทียบกรณีในบริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SLM โดยบริษัทมีหน้าที่จัดทำและนำส่งงบการเงินประจำรอบปี 2561 ต่อสำนักงาน แต่ SLM อันเป็นการนำส่งงบการเงินล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด 4 ครั้งด้วยกัน ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงินรวมทั้งสิ้น 308,400 บาท
ทั้งนี้การเปรียบเทียบกรณีในบริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SSFโดยผู้ถูกดำเนินการ นายสรพล ว่องวัฒนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานของ “SSF” มีหน้าที่ดูแลในการจัดทำและนำส่งรายงานประจำปี 2561 (แบบ 56-2) ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด แต่นายสรพลไม่สั่งการและไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ ต้องรับผิดกรณี SSF จัดทำและนำส่งรายงานประจำปี 2561 ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 42,600 บาท
ร่วมกับดำเนินการเปรียบเทียบตัว บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SSF มีหน้าที่จัดทำและนำส่งรายงานประจำปี 2561 (แบบ 56-2) ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ช้ากว่าวันที่ส่งให้ผู้ถือหุ้นแต่ไม่เกิน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี แต่ SSF นำส่งรายงานดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 จึงเป็นการนำส่งรายงานประจำปี 2561 (แบบ 56-2) ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 42,600 บาท
ขณะเดียวกันการเปรียบเทียบกรณีในบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL โดยผู้ถูกดำเนินการ นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ MILL ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานมีหน้าที่กำกับดูแลให้ MILL จัดทำและนำส่งงบการเงินประจำรอบปีบัญชี 2561 ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด แต่นายประวิทย์ไม่สั่งการและไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ จึงต้องรับผิดในความผิดที่ MILL จัดทำและนำส่งงบการเงินดังกล่าวล่าช้ากว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 88,200 บาท
ร่วมกับดำเนินการเปรียบเทียบตัวบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL มีหน้าที่จัดทำและนำส่งงบการเงินประจำรอบปีบัญชี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ MILL นำส่งงบการเงินดังกล่าวต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 จึงเป็นการนำส่งงบการเงินล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 110,250 บาท
ส่วนการเปรียบเทียบกรณีในบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORLโดยผู้ถูกดำเนินการ นายปรีชา นันท์นฤมิต ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EFORL ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานมีหน้าที่ดูแล EFORL ในการจัดทำและนำส่งงบการเงินประจำรอบปีบัญชี 2561 ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด แต่นายปรีชา ไม่สั่งการและไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ จึงต้องรับผิดในความผิดที่ EFORL จัดทำและนำส่งนำส่งงบการดังกล่าวล่าช้ากว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 32,100 บาท
ร่วมกับดำเนินการเปรียบเทียบตัวบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ในฐานะผู้ออกหลักทรัพย์ มีหน้าที่จัดทำและนำส่งงบการเงินประจำรอบปีบัญชี 2561 ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ EFORL จัดทำและนำส่งงบการเงินดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 อันเป็นการจัดทำและนำส่งงบการเงินล่าช้ากว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 32,100 บาท
พร้อมกับการเปรียบเทียบกรณีในบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP โดยผู้ถูกดำเนินการนายสิทธิชัย กฤชวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ขณะเกิดเหตุ) ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของ (“7UP”) มีหน้าที่กำกับดูแลให้จัดทำและนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2562 ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด แต่นายสิทธิชัยไม่สั่งการและไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ ต้องรับผิดกรณี 7UP จัดทำและนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2562 ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 45,600 บาท
ร่วมกับดำเนินการเปรียบเทียบตัวบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP มีหน้าที่จัดทำและนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2562 ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 แต่บริษัทนำส่งงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 จึงเป็นการนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2562 ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 45,600 บาท
รวมถึงการเปรียบเทียบกรณีในบริษัทยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN โดยผู้ถูกดำเนินการนางจันทร์ทิพย์ วานิช ในระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 2561 ขณะเกิดเหตุนางจันทร์ทิพย์ วานิช ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ UVAN มีการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ UVAN แต่นางจันทร์ทิพย์รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ดังกล่าวตามแบบ 59-2 ต่อสำนักงานล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด โดยเป็นความผิดจำนวน 32 กระทง ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 846,250 บาท
อีกทั้งการเปรียบเทียบกรณีในบริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) หรือ DIMET เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัทเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ผลความผิดดังกล่าวส่งผลให้มีคำสั่งเปรียบเทียบโดยปรับเงิน 500,000 บาท
ส่วนกรณีมาตรการลงโทษทางแพ่ง พบว่าในบริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ระหว่างวันที่ 4 – 22 ธ.ค. 2557 บุคคลจำนวน 13 ราย ได้แก่ (1) นายเกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์ (2) นายน้ำ ชลสายพันธ์ (3) นายศุภวุฒิ มณีรินทร์ (4) นางสาวศนิ จิวจินดา (5) นายยศ ธนารักษ์โชค (6) นางนิภา ชลสายพันธ์ (7) นางสาวน้ำทิพย์ ชลสายพันธ์ (8) นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย (9) บริษัทนิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (NPP) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน)) (10) นางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์ (11) นายปฏิญญา เทวอักษร (12) นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ และ (13) นายประพล มิลินทจินดา
โดยได้ร่วมกันสร้างราคาหุ้น “KIAT” ให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งมีผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นจาก 7.75 บาท เป็นราคา 15.60 บาท บุคคลข้างต้นได้แบ่งหน้าที่กันเพื่อสร้างราคาหุ้น กล่าวคือ นายน้ำ นายศุภวุฒิ นางสาวศนิ และนายยศ ทำหน้าที่ซื้อขายหุ้น KIAT เพื่อให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ในช่วงเวลาเดียวกันนายเกียรติชัย นายสุรพงษ์ NPP (ซึ่งนายสุรพงษ์เป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้มีอำนาจซื้อขายในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ NPP) นางสาวรินนภาซึ่งมีนายสุรพงษ์เป็นผู้รับประโยชน์ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน นายปฏิญญา และนางกิ่งกาญจน์ซึ่งมีนายประพลเป็นผู้รับประโยชน์ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน
ร่วมทำรายการซื้อขายบนกระดานรายใหญ่ (Big lot) เป็นจำนวนมากหลายครั้งตามราคาที่กลุ่มผู้กระทำความผิดได้ผลักดันให้สูงขึ้นแล้ว ทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจว่ามีผู้ร่วมลงทุนใหม่สนใจลงทุนใน KIAT ในราคาที่สูงขึ้นตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มผู้ที่ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวซึ่งรวมถึงนางนิภาและนางสาวน้ำทิพย์ซึ่งเป็นภรรยาและบุตรของนายน้ำได้ขายหุ้น KIAT เพื่อทำกำไร โดยนายเกียรติชัยนำหุ้นที่ฝากไว้ในบัญชีบุคคลอื่น (nominee) มาขายทำกำไรเช่นเดียวกัน
โดยผลจากการกระทำความผิดผู้ถูกดำเนินงานได้ถูกการดำเนินการดังต่อไปนี้ 1) นายเกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์ (2) นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย (3) นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ (4) นายประพล มิลินทจินดา โดยรายละเอียดการดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานอัยการ
นอกเหนือจากนั้นรายละเอียดการดำเนินการตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด นายปฏิญญา เทวอักษร ชำระค่าปรับทางแพ่ง 60.33 ล้านบาท, นางสาวศนิ จิวจินดา ชำระค่าปรับทางแพ่ง 7.75 ล้านบาท,นายยศ ธนารักษ์โชค ชำระค่าปรับทางแพ่ง 5.64 ล้านบาท, นายน้ำ ชลสายพันธ์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 10.53 ล้านบาท,
เช่นเดียวกับ นางสาวน้ำทิพย์ ชลสายพันธ์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 5.29 แสนบาท, นายศุภวุฒิ มณีรินทร์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 9.99 ล้านบาท, นางนิภา ชลสายพันธ์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 2.87 ล้านบาท, นางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิต ชำระค่าปรับทางแพ่ง 5 แสนบาท, บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) (กระทำความผิดในขณะชื่อบริษัทนิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) ชำระค่าปรับทางแพ่ง 23.30 ล้านบาท
นอกจากนั้นกรณีมาตรการลงโทษทางแพ่ง จากประเด็นเมื่อวันที่ 8-9 มี.ค. 2564 นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และกรรมการของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในลักษณะว่า JKN เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กัญชงเจ้าแรกเจ้าเดียว และเช่าเวลาสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ แบบ 24 ชั่วโมง โดยสื่อความในทำนองว่าผลการดำเนินงานของ JKN จะดีขึ้นอย่างมาก หรือราคาหุ้น JKN จะปรับตัวสูงขึ้นมาก
โดยมีข้อความในลักษณะชักชวนให้รีบซื้อหุ้น JKN ซึ่งข้อความที่นายจักรพงษ์เผยแพร่ดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนและผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดของ JKN ที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหรือต่อการตัดสินใจลงทุนใน JKN
รายละเอียดการดำเนินการตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด ดังนี้ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 2 ล้านบาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 166,840 บาท
เช่นเดียวกับกรณีมาตรการลงโทษทางแพ่งผู้ถูกดำเนินการนายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ช่วงระหว่างนั่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการของ SVI รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ของ SVI ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ได้ร่วมกับนางสาวนนทิยา พลวัฒน์ ซื้อหุ้น SVI ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท Eagle Mount Asia Equities Limited จำนวนรวม 23,951,000 หุ้น ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561
รายละเอียดการดำเนินการตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด ดังนี้ ชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด 16.64 ล้านบาท และชำระค่าปรับทางแพ่ง 20.80 ล้านบาท ขณะเดียวกันห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นเวลา 12 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 12 เดือน อีกทั้งชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 191,671 บาท
ตามด้วย นางสาวนนทิยา พลวัฒน์ ผู้มีอำนาจสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท Eagle Mount Asia Equities Limited (บริษัท Eagle Mount) ได้ร่วมกับนายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ของ SVI โดยนางสาวนนทิยา เป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อหุ้น SVI โดยอาศัยข้อมูลภายในดังกล่าว โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท Eagle Mount ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. 2561 ถึงวันที่ 17 ก.ค. 2561 ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลภายในต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561
รายละเอียดการดำเนินการตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด ดังนี้ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 500,000 บาท ขณะเดียวกันห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นเวลา 8 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 8 เดือน อีกทั้งชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 191,671 บาท
พร้อมกับนางสาววลัยลักษณ์ ปฐมรังษิยังกุล ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นางจันทร์ทิพย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานปี 2560 ของ UVAN ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในการซื้อหุ้น UVAN โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนระหว่างวันที่ 5- 22 ก.พ. 2561 ก่อนข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 23 ก.พ. 2561
รายละเอียดการดำเนินการตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด ดังนี้ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 500,000 บาท ขณะเดียวกันห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นเวลา 9 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 9 เดือน อีกทั้งชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 121,980 บาท
รวมถึง นางจันทร์ทิพย์ วานิช ในช่วงเดือนธ.ค. 2560 ถึงเดือนก.พ. 2561 นางจันทร์ทิพย์ ซึ่งเป็นกรรมการของ UVAN รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานปี 2560 ของ UVAN ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่มีกำไรรายไตรมาสสูงสุดในรอบ 3 ปี และได้ซื้อหุ้น UVAN ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2560 ถึงวันที่ 22 ก.พ. 2561 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวอมรรัตน์ เกษมศักดากร และนางสาววลัยลักษณ์ ปฐมรังษิยังกุล จำนวนรวม 1,286,700 หุ้น ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 ทำให้นางจันทร์ทิพย์ได้ประโยชน์จากการซื้อหุ้นดังกล่าว
ขณะเดียวกันในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2561 นางจันทร์ทิพย์รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ซึ่งมีผลกำไรสุทธิลดลงจำนวนมาก และนางจันทร์ทิพย์ได้ขายหุ้น UVAN ระหว่างวันที่ 12 ก.ค. 2561 ถึงวันที่ 10 ส.ค. 2561 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ นางสาวอมรรัตน์ จำนวน 314,500 หุ้น ทำให้ได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนมีการเปิดเผย ข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561
รายละเอียดการดำเนินการตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด ดังนี้ ชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด 1.36 ล้านบาท รวมถึงชำระค่าปรับทางแพ่ง 1.91 ล้านบาท ขณะเดียวกันห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 14 เดือน อีกทั้ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 121,980 บาท
อีกทั้งนางสาวอมรรัตน์ เกษมศักดากร ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นางจันทร์ทิพย์ วานิช ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานปี 2560 ของ UVAN ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในการซื้อหุ้น UVAN โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2560 ถึงวันที่ 6 ก.พ. 2561 ก่อนข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 23 ก.พ. 2561
พร้อมช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นางจันทร์ทิพย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิลดลงจำนวนมากในการขายหุ้น UVAN โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน ระหว่างวันที่ 12 ก.ค. 2561 ถึงวันที่ 10 ส.ค. 2561 เพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 14 ส.ค. 2561
รายละเอียดการดำเนินการตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด ดังนี้ ชำระค่าปรับทางแพ่ง 1 ล้านบาท ขณะเดียวกันห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เป็นเวลา 9 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 9 เดือน อีกทั้งชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 121,980 บาท