“วิจัยกรุงศรี” หั่น GDP ปี 64 เหลือโต 1.2% ชี้ผลกระทบโควิดรุนแรง-ยืดเยื้อ

“วิจัยกรุงศรี” หั่น GDP ปี 64 เหลือโต 1.2% ชี้ผลกระทบโควิดรุนแรง-นานกว่าคาด หลังฉีดวัคซีนยังล่าช้า มองภาคท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ช้า


วิจัยกรุงศรี ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงเหลือขยายตัว 1.2% จากเดิมที่คาดไว้ 2% เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 รุนแรงและยาวนานกว่าคาด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศทวีเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และการฉีดวัคซีนที่ยังมีความล่าช้า ชี้ว่าการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นอาจดำเนินต่อไปจนถึงเดือน ต.ค.64

ผลกระทบเชิงลบโดยรวมที่เกิดจากการหยุดชะงักของอุปทาน การลดลงของอุปสงค์ และกิจกรรมการท่องเที่ยวอ่อนแอลง ฉุดการเติบโตของ GDP ของไทยในปีนี้ลดลง 2% แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนการเติบโตของ GDP ปีนี้บวกขึ้น 0.6%

สำหรับการออกมาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีเพิ่มเติมวงเงิน 1 แสนล้านบาทในปีนี้ น่าจะสามารถช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีก 0.6% แต่มาตรการทั้งทางการคลังและการเงินอาจมีผลบวกค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับขนาดของผลกระทบจากการระบาดรอบนี้และขนาดของมาตรการที่ดำเนินการในอดีตที่ผ่านมา ผลกระทบสุทธิต่อการเติบโตของ GDP ของไทยรวมแล้วจะลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.8% ทำให้ประมาณการอัตราการขยายของเศรษฐกิจในปี 64 เหลือเติบโตเพียง 1.2% จากเดิมครั้งก่อนคาดไว้ที่ 2.0%”

ทั้งนี้ กรุงศรีคาดการระบาดรอบล่าสุดฉุด GDP ลดลงจากประมาณการเดิม 0.8% ตามอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซา ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้เข้าสู่กรณีเลวร้ายที่เคยคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน จึงได้ปรับขยับสถานการณ์การระบาดดังกล่าวมาเป็นกรณีฐานในการประมาณการครั้งล่าสุด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เร่งขึ้นใกล้แตะระดับ 10,000 รายในช่วงต้นเดือน ก.ค.

นอกจากนี้ ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะข้างหน้า คาดว่าจะมีสาเหตุจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาและเบตาเป็นหลัก ดังนั้น ข้อมูลรูปแบบการติดเชื้อจึงอ้างอิงจากประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ และอังกฤษ ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่ของไทยในช่วงเดือน ก.ค.64 คาดว่าจะมีผลกระทบราว 70% ของช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย.63 แบบจำลองชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 รายต่อวันได้ภายในต้นเดือน ส.ค.

ขณะที่สมมติฐานด้านการฉีดวัคซีนของไทย คาดอัตราการฉีดเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000 โดสต่อวันในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้เมื่อถึงสิ้นปีจะมีจำนวนวัคซีนฉีดแล้วราว 55 ล้านโดส ซึ่งอาจช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันได้บ้าง โดยเฉพาะหลังจากเดือน ก.ย. อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นสำคัญที่จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน (สมมติฐานประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 60%) ในกรณีฐานดังกล่าวนี้ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงมาต่ำกว่า 1,000 ภายในเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้วิจัยกรุงศรี ประเมินการฟื้นตัวในรูปแบบตัว K จะปรากฎชัดขึ้น โดยภาคท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวได้ช้าแม้จะสามารถเริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ได้ แต่การระบาดที่รุนแรงและยาวนานเกินคาด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ คาดว่าจะมีเพียง 0.21 ล้านคน (เดิมคาด 0.33 ล้านคน) ด้านตลาดแรงงานที่อ่อนแอ หนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและรายได้ที่ลดลง รวมถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่มีจำกัด การบริโภคภาคเอกชนในปีนี้อาจมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเหลือ 1.1% (เดิม 1.8%)

ส่วนในแง่บวก อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการกลับมาเปิดดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ช่วยหนุนให้การขยายตัวของภาคส่งออกของไทยในปีนี้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 15% (ฐานตัวเลขของ ธปท) จากเดิมคาดโต 9.5% แนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ได้บ้าง

Back to top button