TTB มองครึ่งปีหลังเจอวิกฤต “โควิด“ ต่อ เร่งปรับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์-บริการ
TTB มองครึ่งปีหลัง ยังรับผลกระทบโควิด-19 พร้อมปรับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์-บริการ พร้อมพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2564 ธนาคารยังคงเน้นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม และมีจุดประสงค์หลักก็เพื่อรักษาและคงความแข็งแกร่งทางการเงินไว้ให้พร้อมสำหรับการเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย แม้ว่าจะมีแรงกดดันด้านรายได้แต่เป้าหมายหลักด้านอื่นๆ แต่ธนาคารยังคงทำได้ดีตามแผน ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการ โดยเฉพาะจากด้านงบดุล (Balance sheet synergy) และด้านต้นทุน (Cost synergy) การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อ สิ่งสำคัญที่สุดที่ธนาคารเร่งดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในตอนนี้ คือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและการยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยของพนักงานทัพหน้า เช่น พนักงานสาขาและศูนย์บริการลูกค้า ซึ่งหมายรวมถึงความปลอดภัยของลูกค้าที่ยังมีความจำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการที่สาขาด้วยเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังมองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังมีผลกระทบกับเศรษฐกิจต่อไป ดังนั้นภาพรวมเชิงกลยุทธ์จึงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการดำเนินการตามแผนการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการด้านรายได้ (Revenue synergy) ภายหลังการรวมธนาคาร ผ่านการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ด้านค่าใช้จ่ายของธนาคารจะยังมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการรวมกิจการเหลืออยู่บางรายการในช่วงครึ่งปีหลัง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับแผนการดูแลพนักงานในช่วงโควิด-19 ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะยังอยู่ใกล้กับกรอบด้านบนของเป้าหมายธนาคารที่ 47%-49%
สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังเน้นการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อให้ธนาคารสามารถช่วยเหลือลูกค้าและดูแลคุณภาพสินทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น โดยนับตั้งแต่การระบาดในปีที่แล้ว ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปมากกว่า 7.5 แสนราย ปัจจุบันยอดสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมความช่วยเหลือมีสัดส่วนประมาณ 14% ของสินเชื่อรวม
ทั้งนี้ ภายใต้โปรแกรมให้ความช่วยเหลือ การปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพคล่องที่เปลี่ยนไปของลูกค้าช่วยให้ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ลดการผิดนัดชำระหนี้ และชะลอการเกิดหนี้เสียใหม่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการแก้หนี้เสียที่มีอยู่เดิม เช่น การขาย ทำได้ช้าลงเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในสถานการณ์ปกติ ดังนั้นโดยรวมแล้วยอดหนี้เสียและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“เศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 มีความท้าทายมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 ซึ่งรุนแรงมากกว่าการระบาดที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2564 สำหรับทีเอ็มบีธนชาตนั้น เรามีภารกิจสำคัญในเรื่องการรวมธนาคาร ซึ่งแม้จะเผชิญกับข้อจำกัดจากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่จากการเตรียมงานและความทุ่มเทของพนักงานก็ทำให้ภารกิจรวมธนาคารเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นไปตามกรอบระยะเวลา 18 เดือนที่วางไว้” นายปิติ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 ธนาคารมียอดหนี้เสียอยู่ที่ 43,543 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 43,400 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน แต่เนื่องจากสินเชื่อชะลอลง สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมจึงขยับจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.89% ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย และมีสินเชื่ออยู่ที่ 1,359 พันล้านบาท ชะลอลง 2.5% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นไปตามแผนของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง รวมถึงการชำระคืนหนี้ของลูกค้าบรรษัทธุรกิจ
ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,324 พันล้านบาท ชะลอลง 3.6% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นผลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากภายหลังการรวมกิจการ โดยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำและแทนที่ด้วยเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น บัญชี ttb all free และบัญชี ttb no fixed ซึ่งยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับภาวะสินเชื่อชะลอตัว
ทั้งนี้ จากกลยุทธ์ด้านเงินฝากและการบริหารสภาพคล่อง ส่งผลให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ในไตรมาส 2/2564 จึงทรงตัวได้ที่ 2.98% ใกล้เคียงกับ 3.00% ในไตรมาสก่อนหน้า และทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวอยู่ที่ 12,782 ล้านบาท หรือลดลงเพียง 0.7% จากไตรมาสก่อน แม้จะอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง
ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,118 ล้านบาท ลดลง 21.5% จากไตรมาส 1/2564 สาเหตุหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้ารายย่อยที่ลดลงหลังการระบาดระลอก 3 นำไปสู่การยกระดับมาตรการคุมเข้มต่าง ๆ สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะด้าน Trade finance มีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนตามกิจกรรมนำเข้า-ส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,402 ล้านบาท ลดลง 6.6% จากไตรมาสก่อน และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 46.4% ค่าใช้จ่ายที่ลดลงนี้เป็นผลจากการรับรู้ประโยชน์ด้านต้นทุนจากการรวมกิจการ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลื่อนจัดกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการรวมกิจการไปในช่วงครึ่งปีหลังเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นในไตรมาสถัดๆไป อาจเห็นการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้แต่จะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม จากรายได้และค่าใช้จ่ายข้างต้น ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,502 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อน และยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงที่ 5,491 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีกำไรสุทธิ 2,534 ล้านบาท ลดลง 8.9% จากไตรมาสที่แล้ว
ขณะที่ความเพียงพอของเงินกองทุนยังก็อยู่ในระดับสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) ทรงอยู่ที่ 19.6% และ 15.5% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ