เปิดกลุ่มแบงก์! โชว์กำไร Q2 โต 5.13 หมื่นลบ. KBANK-BBL-BAY-CIMBT นำทีมโตกว่าเท่าตัว

ส่องงบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/64 กำไรแตะ 5.13 หมื่นลบ. -งวด 6 เดือนแตะ 9.79 หมื่นลบ. ชู KBANK-BBL-BAY-CIMBT กำไรโตกว่าเท่าตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2564 และงวด 6 เดือนแรกของปี 2564  ออกมาครบถ้วนแล้ว โดยในไตรมาส 2/2564 กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 51,263 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.14% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 30,307 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 กลุ่มธนาคารฯมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 97,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.90% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อยู่ที่ 77,144 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศออกมา พบว่ามากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนของทั้งกลุ่มธนาคารฯก็ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงเงินสำรองหนี้เสียที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง

สำหรับผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์  ซึ่งเรียบเรียงจากความสามารถของการทำกำไรในไตรมาส 2/2564 โดยสามารถทำผลกำไรสุทธิสูงสุดจากกลุ่มธนาคาร พบว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 14,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,508 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21,048  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 13,540 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นผลมาจากบุ๊คกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.03% มีเงินสำรองรวมอยู่ที่ 84,039 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูงที่ 175.8% และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.80%

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,175 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 19,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันองปีก่อน 9,550 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นผลมาจากธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลง 39.32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยงวดครึ่งปีแรกของปี 2563 ธนาคารได้ตั้งสำรองฯในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง 32,064 ล้านบาท และได้พิจารณาตั้งสำรองฯในงวดนี้ 19,457 ล้านบาท เป็นระดับสำรองฯภายใต้หลักความระมัดระวัง หากเปรียบเทียบไตรมาส 2/2564 กับไตรมาสก่อน ธนาคารตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น 24.93% สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.95% ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.86%

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 8,360 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 18,902 ล้านาบาท เพิ่มขึ้น 7.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 17,610 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลของการขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการปรับตัวลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคาร ธนาคารได้ตั้งเงินสำรอง 20,036 ล้านบาทสำหรับครึ่งปีแรก ด้านอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ 3.79% ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 142.3% ขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.9%

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,095 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 10,765 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,420,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากสิ้นปี 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อกิจการต่างประเทศ แม้ว่าอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ในระดับทรงตัวที่ 3.7% ธนาคารยังคงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,755 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่  11,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  10,222 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่ขยายตัว 5.3% จากไตรมาสที่ผ่านมา โดย NIM ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.55% จาก 2.50% ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับ ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว  ส่งผลค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 3.6%  งวดครึ่งปีแรกคุณภาพสินทรัพย์  NPLs Ratio-Gross ปรับลดลงอยู่ที่  3.54% จาก 3.81% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 19.35 %

สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 16,154 ล้านบาทเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าซึ่งรวมถึงการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น160.7% ณ วันที่ 30มิถุนายน2564 เทียบกับ 153.9% ณ วันที่ 31มีนาคม 2564 และ 147.3% ณ 31ธันวาคม 2563

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,534 ล้านบาท ลดลง 18.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,095 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 แรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,316 ล้านบาท ลดลง 26.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 7,258 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลจากธนาคารระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ ธนาคารตั้งสำรองฯจำนวน 5,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อขั้นที่ 3 อยู่ที่ 43,543 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 2.89%

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,329 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,430 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,815 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ลดลง 4.8% จากสิ้นปีก่อนหน้า และจากการชะลอตัวของทุกธุรกิจ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 24.1% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 19.3% และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 4.8%

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันขอองปีก่อน 1,184 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,668 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลจากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ธนาคารสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตในไตรมาส 2/2564 จำนวน 1,378 ล้านบาท และมีสินเชื่อรวมขยายตัว 6.6% จากสิ้นปี 2563 ด้านคุณภาพของสินเชื่ออัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL) อยู่ที่ 3.4% ปรับเพิ่มขึ้นจาก3.2% เมื่อสิ้นไตรมาส 1/2564

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 306 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 955 ล้านบาท ลดลง 31.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,386 ล้านบาท

ทั้งนี้ผลงวด 6 เดือนที่ลดลงสาเหตุเกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ย และเกิดจากผลขาดทุนด้านเคดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและโอกาสที่คุณภาพสินเชื่อของลูกค้าที่จะแย่ลงจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19

บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  หรือ LHFG ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 477 ล้านบาท ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 500 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,038 ล้านบาท ลดลง 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,330 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 19.9 และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 พร้อมกับการลดลงของกำไรจากเงินลงทุน รายได้เงินปันผล และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย ในการดำเนินงานอื่น

Back to top button