“กกพ.” ขยายเวลาเว้นเก็บ Minimum Charge กิจการกลาง – ใหญ่ ถึงสิ้นปี 64
กกพ. ขยายเวลาเว้นเก็บ Minimum Charge อุตสาหกรรม 6 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. - ธ.ค. 2564 เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในสถานการณ์ขณะนี้
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ลงนามเมื่อวันที่ 21 ก.ค.64 ในประกาศยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สำหรับกิจการขนาดกลาง, การกิจการขนาดใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง, องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร โดยขยายเวลาจากกำหนดเดิมออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. – ธ.ค. 2564 ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวจ่ายค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Demand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง
โดยประกาศดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในระลอกเดือน ก.ค. 2564
ทั้งนี้ Minimum Charge เป็นการคิดค่าไฟฟ้าอัตราเหมาจ่ายขั้นต่ำ 70% ของการใช้ย้อนหลัง 12 เดือน ดังนั้นเมื่อยกเว้น Minimum Charge จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าตามที่ใช้จริงเท่านั้น
อนึ่งมาตรการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ในครั้งนี้ นับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 6 โดยเริ่มช่วยเหลือรอบแรกเมื่อเดือน เม.ย. – มิ.ย.2563, รอบ 2 ระหว่างเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563, รอบ 3 ระหว่างเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2563, รอบที่ 4 ระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค. 2564, รอบที่ 5 ระหว่างเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2564 และรอบที่ 6 ล่าสุดระหว่าง ก.ค. – ธ.ค. 2564
ขณะที่การยกเว้น Minimum Charge ส่งผลให้ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เก็บเงินค่าไฟฟ้าได้น้อยลงประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน หรือโดยเฉลี่ย 3 เดือน การไฟฟ้าเก็บเงินได้น้อยลงประมาณ 100 – 200 ล้านบาท