“แอสตร้าฯ” แจงขาดแคลนวัตถุดิบผลิตวัคซีน ยันเร่งส่งมอบไทย 5-6 ล้านโดส/เดือน
“แอสตร้าเซนเนก้า” แจงขาดแคลนวัตถุดิบผลิตวัคซีน เร่งนำเข้า-ผลิต พร้อมส่งมอบให้ไทยได้ประมาณ 5-6 ล้านโดส/เดือน
นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ทำจดหมายเปิดผนึกชี้แจงว่า ขณะที่ทั่วประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในฐานะตัวแทนของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยขอแจ้งให้ท่านทราบถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกคนและยับยั้งการแพร่ระบาดนี้
ทั้งนี้แอสตร้าเซนเนก้ามีความกังวลและเป็นห่วงกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกรมควบคุมโรคมาโดยตลอดเกี่ยวกับผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวทางที่แอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถช่วยสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้
“ขอยืนยันกับทุกคนว่าสิ่งที่แอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในขณะนี้ คือ การเร่งผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อปกป้องคุณและคนที่คุณรักให้ได้โดยเร็วที่สุด เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ” จดหมายเปิดผนึกฯ ระบุ
โดยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็น “ชีววัตถุ” ที่เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน จำนวนเซลล์ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิตจึงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน
จนถึงขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้า รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลตา จะพยายามอย่างสุดความสามารถและเสาะหาทุกวิถีทางที่จะเร่งการผลิตและส่งมอบวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรผู้ผลิตอย่างสยามไบโอไซเอนซ์ ได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้มากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังได้พยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากศูนย์การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลกกว่า 20 แห่ง เพื่อส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้ แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมมาให้กับคนไทยได้ในเดือนต่อๆ ไป
สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดของยุค โดยแอสตร้าเซนเนก้าตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการช่วยคลี่คลายวิกฤตนี้ พนักงานของแอสตร้าเซนเนก้ารวมไปถึงพนักงานของพันธมิตรด้านการผลิตหลายพันชีวิตต่างอุทิศกำลังและเวลาช่วงปีที่ผ่านมาอย่างเต็มความสามารถในการผลิตและส่งมอบวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้ามีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดนี้ โดยไม่หวังผลกำไร เพราะเชื่อว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าการจัดหาวัคซีนในช่วงที่มีความต้องการเร่งด่วนนี้จะหนักเกินกว่าที่จะรับมือโดยลำพัง แต่จะไม่หยุดพักจนกว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องร่วมสู้วิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยทั้งประเทศได้แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่แข็งแกร่งและความมีน้ำใจ พร้อมที่จะยื่นมือช่วยเหลือกันในยามยาก จากผลสำรวจที่ระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของคนไทย รวมถึงพนักงานแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยได้ร่วมบริจาคเงิน อาหาร หรือสิ่งของเพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วยกันในช่วงการระบาด ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยทั้งในชุมชนและในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ การจะผ่านพ้นมหาวิกฤตโควิด-19 ได้นั้น ต้องร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทยแต่รวมถึงทุกประเทศทั่วโลกด้วย
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ประเทศบ้านพี่เมืองน้องทั่วอาเซียนก็มีการประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง พร้อมกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากการใช้วัคซีนล่าสุดจากประเทศแคนาดาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในระดับที่ต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้มากถึง 87% ดังนั้นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในทุกที่ เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปอย่างไร้พรมแดน ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านยังคงทวีความรุนแรงก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน หนทางเดียวที่จะยุติการแพร่ระบาดนี้ได้คือ ความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคน