“6 องค์กรสื่อ” จี้ “ตู่” ยกเลิกกฎคุมเสนอข่าว เห็นพ้องส่อคุกคามเสรีภาพ!

“6 องค์กรสื่อ” ส่งตัวแทนยื่นจดหมายถึง “นายก” เรียกร้องยกเลิกข้อกำหนดควบคุมการเสนอข่าว โดยเห็นพ้องส่อคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน


ตัวแทน 6 องค์กรสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ผ่านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนดในฉบับที่ 29

โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ได้หารือกันจนมีข้อสรุปว่า ถ้อยคำตามข้อกำหนดดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. ข้อกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือขอบเขตของการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ประชาชนและสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือความจริงก็อาจถูกดำเนินคดีหรือคุกคามจากหน่วยงานของรัฐได้ เพียงเพราะใช้วิจารณญานว่าเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
  2. ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ในข้อกำหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ความชัดเจนว่า จะห้ามเสนอข่าวฯ ได้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าวหรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน
  3. ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวล พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับถูกเพิกเฉย อีกทั้งได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซ้ำอีกครั้ง โดยมีการขยายขอบเขตการใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนให้กว้างขวางออกไปอีก

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยทันที เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก

ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง6 องค์กร จะเพิ่มมาตรการในการกดดันให้รัฐบาลต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งมาตรการทางด้านกฎหมายและมาตรการทางสังคมต่อไปจนถึงที่สุด

ด้านนายอนุชา ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนวิชาชีพ พร้อมเชิญชวนสื่อมวลชนและองค์การสื่อวิชาชีพ ร่วมกับภาครัฐในการแสวงหาพื้นที่กลาง (Common Ground) เพื่อร่วมกันออกแบบกรอบการทำงานและเป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐและสื่อมวลชน รวมทั้งยังได้เพิ่มเติมให้มีการใช้ช่องทางโฆษกกระทรวง ซึ่งมีภาระหน้าที่ สื่อสารให้ข้อมูล อำนวยความสะดวกเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อประสานข้อมูล

Back to top button