“ดาวโจนส์” ปิดลบ 149 จุด วิตก “โควิดเดลตา” ระบาดหนัก – เงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง
ดาวโจนส์ปิดลบ 149.06 จุด วิตกการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นแอมะซอน.คอม หลังบริษัทคาดการณ์ว่ายอดขายจะชะลอการขยายตัว นอกจากนี้ ความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ เป็นปัจจัยถ่วงตลาดลงด้วย
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,935.47 จุด ลดลง 149.06 จุด หรือ -0.42%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,395.26 จุด ลดลง 23.89 จุด หรือ -0.54% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,672.68 จุด ลดลง 105.59 จุด หรือ -0.71%
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก FactSet บ่งชี้ว่า ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ลดลง 0.4% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ลดลง 1.1% แต่ในเดือนก.ค. ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.3%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 2.3% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1.2% โดยดัชนี S&P500 ปิดบวกในเดือนก.ค.ได้เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ขณะที่หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวกในวันศุกร์ ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มพลังงานลดลง 2.77% และ 1.76% ตามลำดับ ส่วนหุ้นกลุ่มวัสดุปรับตัวขึ้น 0.4%
หุ้นแอมะซอน.คอม อิงค์ ร่วงลง 7.56% หลังบริษัทรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า รายได้ในไตรมาส 2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และระบุว่า การขยายตัวของยอดขายจะลดลงในไตรมาสข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคเดินทางออกจากบ้านมากขึ้น
หุ้นอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล และหุ้นเฟซบุ๊ก ปรับตัวลง 0.77% และ 0.56% ตามลำดับ
หุ้นพินเทอเรสต์ ร่วงลง 18% หลังเปิดเผยจำนวนผู้ใช้งานแพล็ตฟอร์มของบริษัทในสหรัฐนั้นชะลอการขยายตัว
หุ้นคาเตอร์พิลลาร์ ร่วงลง 2.73% แม้เปิดเผยผลกำไรไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกก็ตาม
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ดีดตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2534 อย่างไรก็ดี ดัชนี PCE พื้นฐานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 4.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนพ.ค. และรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลง 0.2%
ด้านมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 81.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. จากระดับ 85.5 ในเดือนมิ.ย. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 80.8