ดีเดย์ AMR เทรดวันแรกลุ้นวิ่งทะลุเป้า 8.7 บ. พื้นฐานแกร่ง ลุ้น 3 ปีกำไรโตเฉลี่ย 17%

ดีเดย์ AMR ลงสนามเทรดวันแรก ลุ้นวิ่งทะลุเป้า 8.70 บ. จากราคา IPO ที่ 6.90 บ. โบรกฯ ชูพื้นฐานแกร่ง ลุ้น 3 ปี (ปี 2564-2566) กำไรโตเฉลี่ย 17%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ส.ค.) บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เข้าจดทะเบียนในตลาด SET กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นวันแรก โดย AMR มีทุนชำระแล้ว 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 450 ล้านหุ้น และ หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) 150 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 6.90 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,035 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,140 ล้านบาท มีบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

ทั้งนี้ AMR เป็นผู้ให้บริการออกแบบระบบงานวิศวกรรมและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integration: SI) รวมถึงงานให้บริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทีโซลูชั่นมายาวนานกว่า 20 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญด้านระบบการเดินรถและขนส่งมวลชนสมัยใหม่ ในปี 2559 ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ AMR ที่เป็นบริษัทสัญชาติไทยบริษัทแรกที่ได้ออกแบบติดตั้งและบริหารงานระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี – สถานีคลองสาน ระยะที่ 1 และได้รับงานระบบเดินรถไฟฟ้าของโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ณ 31 มีนาคม 2564 มีงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ประมาณ 1,450 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ตามลำดับ และมีโอกาสเติบโตตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศของภาครัฐ และการขยายการลงทุนของภาคเอกชนในหลากหลายอุตสาหกรรม

ด้าน นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ AMR เปิดเผยว่า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้บริษัทมีฐานทุนเพิ่มขึ้น เพิ่มศักยภาพในการรับงานโครงการขนาดใหญ่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจในระบบขนส่งมวลชน (Intelligent Transportation) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เทคโนโลยีพลังงานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle technology) และสาธารณูปโภคของเมือง เพื่อต่อยอดการเป็นผู้นำด้านงาน System Integration (SI) ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และรองรับลูกค้าขนาดใหญ่ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

โดย AMR มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ถือหุ้น 26.25% 2) นางสุชาดา มงคลดี ถือหุ้น 12.84% และ 3) กลุ่มครอบครัวศิริโก ถือหุ้น 8.63% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO จะพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earning Ratio : P/E) ทั้งนี้ ราคาที่เสนอขายคิดเป็นอัตราส่วน P/E เท่ากับ 15.33 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ 0.45 บาท/หุ้น ซึ่งคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ (Fully Diluted) ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท ภายหลังการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า AMR ประกอบธุรกิจด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator) แบบครบวงจร ซึ่งหากพิจารณาจากงานในอดีตและงานในมือ กลุ่มลูกค้าของ AMR จะเน้นไปที่งานวางระบบคมนาคมขนส่ง (Transportation Solution: TS) โดยในปี 2563 รายได้จากงานประเภท TS คิดเป็นราว 72.8% ของรายได้รวม และรายได้จากงานวางระบบไอซีทีและซิสเต็มส์โซลูชั่น (ICT and System Solution: ISS) ในปี 2563 คิดเป็นราว 16.4% ของรายได้รวมจะเห็นว่าโครงสร้างธุรกิจของ AMR สอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 – 2580 ของภาครัฐฯ

โดยรายได้มากกว่า 70% ของ AMR เป็นรายได้จากงานประเภท TS อาทิ ระบบเดินรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบในการดำเนินงานและงานซ่อมบำรุง ฯลฯ ซึ่งอิงไปกับการพัฒนาระบบรางและระบบขนส่งคมนาคมของประเทศไทย ดังนั้นแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะงานระบบราง (รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล ฯลฯ) ที่คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 1.7 ล้านล้านบาท จากประวัติการทำงานในอดีต (Track record) ทำให้คาดว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะระบบราง จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่หนุนผลการดำเนินงานของธุรกิจ IT Solution อย่าง AMR ด้วย

ทั้งนี้ AMR มี Backlog ในมือราว 1.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 และงานรอประมูลอีกราว 8 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้รายได้เติบโต 7% CAGR ในช่วงปี 2563 – 2566 อย่างไรก็ดีทางผู้บริหารได้คำนึงถึงความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากการประมูลงานโครงการ จึงวางเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากงานประเภทงานให้บริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง หรือ Maintenance Agreement (MA) ภายในปี 2565 จากที่มีรายได้ 147 ล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งงานประเภท MA จะเป็นรายได้ประเภท Recurring income ที่ต่อเนื่อง และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง

ดังนั้นจึงประเมินมูลค่าที่เหมาะสมปี 2564 ได้เท่ากับ 8.70 บาท อิง PE ที่ 30 เท่า โดย Discount -14% จากค่าเฉลี่ยForward PE ของหุ้นกลุ่ม Business Solution ที่เน้นงานด้านเทคโนโลยี ที่ 35 เท่า ณ ราคาปิดวันที่ 18 มิ.ย.2564

ส่วน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า AMR ดำเนินธุรกิจผู้รับเหมาเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในระบบราง ภายใต้จุดแข็งด้านวิจัย+พัฒนาสินค้าและบริการตรงตามความต้องการลูกค้า ทำให้ได้รับงานจากผู้ให้บริการระบบรางหลักของประเทศเสมอ จึงพร้อมเติบโตไปกับเม็ดเงินลงทุนระบบรางมหาศาลรัฐฯ รวมถึงงานไอซีทีเป้าหมายที่เป็นพื้นฐานระบบ Smart Cities ใน 2-3 ปีจากนี้ ประเมินกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท

โดยเงิน IPO จะใช้รองรับปริมาณงานที่เข้ามาในอนาคต และลงทุนเป็นผู้ให้บริการระบบรางสายรอง (Feeder Line) และ Smart Cities ภายใต้สมมติฐานไม่รวมโครงการให้บริการ คาดกำไรปี 2564-66 เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.8% มูลค่าหุ้นปี 2564 อิง PER 25 เท่า อยู่ที่ 8 บาท ส่วนปี 2565 จะเพิ่มเป็น 9.70 บาท

Back to top button