ANAN เดินหน้าอุทธรณ์ “ศาลปกครองสูงสุด” มั่นใจ “แอชตัน อโศก” ถูกทุกขั้นตอน!

ANAN ชี้โครงการแอชตัน อโศกทำตามทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย มั่นใจผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เร่งเดินหน้าอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด พร้อมเลื่อนวันเสนอขายหุ้นกู้ออกไปก่อน


นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เปิดเผยว่า ในการสร้างคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ได้ทำตามขั้นตอนครบถ้วน โดยได้ขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้มีการอนุญาตให้บริษัทใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านบริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท ซึ่งได้สอบถามเขตทาง และหารือเกี่ยวกับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมากกว่า 20 ครั้ง และเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 รายงาน EIA ของโครงการได้รับความเห็นชอบเช่นเดียวกัน

โดยขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้าง และการก่อสร้างมีดังนี้

1.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 บริษัทได้ยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

2.วันที่ 2 มิถุนายน 2559 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการจำนวน 15 คนยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559

3.วันที่ 12 ตุลาคม 2560 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 ราย ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

4.วันที่ 30 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอกำหนดมาตราหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

5.วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 บริษัทยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทำการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารชุดโครงการแอชตัน อโศก และขอออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (หรือแบบ อ.6) สำหรับโครงการแอชตัน อโศก

6.วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งปฏิเสธที่จะออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (

แบบ อ.6) ให้กับโครงการแอชตัน อโศก

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น บริษัทฯ ยังมีขั้นตอนในการเยียวยาลูกค้า โดยลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายห้องชุดจากโครงการ แอชตัน อโศก เป็นสัญญาซื้อขายห้องชุดในโครงการอื่นๆ และกรณีที่ลูกค้าต้องการคืนเงินดาวน์ ทางบริษัทจะคืนเป็นเงินสด บวกกับอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ซึ่งบริษัทได้แจ้งและจัดทำบันทึกแบบเปิดเผยข้อมูลการถูกฟ้องคดีให้ลูกค้าทุกท่านได้รับทราบ ทั้งลูกค้าเก่า และลูกค้าที่ขายใหม่

โดยบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ไม่ออกใบรับรองการก่อสร้าง (แบบ อ.6) ให้กับโครงการแอชตัน อโศก ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 และหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ทางเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงได้ออกใบรับรองก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) ให้กับโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งล่าสุดวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษาว่า พื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการอาคารชุดแอชตัน อโศก ไม่เป็นไปตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) จึงให้เพิกถอนเอกสารการอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่ออกให้แก่บริษัทฯ โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว โดยออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

สำหรับปัจจุบันทางบริษัทได้โอนห้องชุดไป จำนวน 666 ห้อง คิดเป็นร้อยละ 87 ของห้องชุดทั้งหมด ซึ่งบริษัทได้ทำการโอนห้องชุดตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา

บริษัทของเรามีการตรวจสอบทุกขั้นตอนตามกฎหมาย และการขอใบอนุญาตและได้รับการอนุมัติจาก 8 หน่วยงาน ราชการ 1. สผ. 2. รฟม. 3.สนง.เขตวัฒนา 4.สนง.ที่เดินพระโขนง 5.สจส. 6. กรมโยธาธิการและผังเมือง 7.สนง.โยธา กทม. 8. กรมที่ดิน และยังมีใบอนุญาต จำนวน 9 ฉบับ 1.ใบอนุญาตใช้ทางของรฟม. 2.ใบอนุญาตเชื่อมทางสาธารณะ 3-5. ใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ 3 ใบ 6.ใบรับรองเปิดใช้อาคาร 7.หนังสือรับรองจดทะเบียนอาคารชุด 8.หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด 9.หนังสือเห็นชอบรายงาน EIA

ทั้งนี้บริษัทเองยังได้มีการขอความเห็นก่อนการดำเนินการจาก 7 หน่วยงาน 1.รฟม 2.สนง.เขตวัฒนา 3.กองควบคุมอาคาร 4.สำนักการจราจร 5.สำนักการโยธา กทม. 6.สนง.ที่ดิน 7.สผ. และบริษัทยังได้ผ่านคณะกรรมการ 5 คณะกรรมการในการขอใบอนุญาต 1.คกก.รฟม. 2.คกก.คชก. 3.คกก.พิจารณาแบบของสำนักควบคุมอาคารว่าแบบก่อสร้างถูกต้อง 4.คกก.พิจารณาอุทธรณ์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง (กรณีไม่ออกใบอนุญาต) 5.คกก.ตรวจทรัพย์ส่วนกลาง

อย่างไรก็ตาม บริษัทเราได้ทำงานร่วมกับนักลงทุนสถาบันญี่ปุ่น เขาได้เคร่งเรื่องขั้นตอนและการขอใบอนุญาตเป็นอย่างมาก ซึ่งเรามั่นใจว่า โครงการแอชตัน อโศก ได้ทำตามกฎระเบียบและขั้นตอนหรือกฎหมายถูกต้องทุกกระบวนการนายชานนท์ กล่าว

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า จุดยืนของ ANAN พร้อมยืนเคียงข้างลูกค้า ซึ่งบริษัทได้ขายให้กับ 578 ครอบครัว จำนวน 666 ยูนิต โดยบริษัทมั่นใจอย่างมากว่า ANAN จะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งปัจจุบันห้องชุดส่งมอบไปแล้วกว่า 87% ราว 5,639 ล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 6,481 ล้านบาท เนื่องจากโครงการ แอชตัน อโศก มีลูกบ้านจำนวนมาก ทางบริษัทยืนยันว่าจะเคียงข้างลูกบ้านทุกครอบครัว

โดย ANAN ยังได้มีการรับผิดชอบทางผ่านให้ รฟม. เกือบ 100 ล้านบาท และบริษัทเองยังมีโครงการที่ขอผ่านทางลักษณะคล้ายกันในกรุงเทพฯกว่า 13 โครงการ ยังไม่รวมกับโครงการแนวราบ ซึ่งขณะนี้บริษัทมีสต็อกในมือประมาณ 33,793 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 2.48% ของโครงการ ANAN ทั้งหมด ซึ่งอาจไม่กระทบกับบริษัทมากนัก แต่จะไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง โดยมั่นใจว่าจะพาทุกคนผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทได้ทำตามขั้นตอนทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตามบริษัทจะยังเดินหน้าอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน ซึ่งถือว่ามีเวลาน้อยมาก และหลังจากนี้ในอนาคตทางบริษัทจะพยายามให้ข้อมูลกับสถาบันการเงินของลูกบ้านทุกครอบครัวในการทำการผ่อนหรือเรื่องการเงินต่างๆ และจะเสนอขอสมาคมอสังหาริมทรัพย์ให้กับลูกบ้าน

ส่วนในเรื่องของการออกหุ้นกู้ ทางบริษัทจะต้องเลื่อนวันเสนอขายออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่อำนวย และให้เวลากับนักลงทุนในการติดตามข่าว และยังมั่นใจว่าการออกหุ้นกู้ยังเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยบริษัทจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ อย่างไรก็ตามบริษัทจะออกหุ้นกู้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และให้ได้รับผลกระทบของบริษัทและนักลงทุนให้ได้น้อยที่สุด

Back to top button