สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนที่น่าผิดหวังในเดือนก.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,792.67 จุด ลดลง 323.73 จุด หรือ -0.92% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,402.66 จุด ลดลง 20.49 จุด หรือ -0.46% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,780.53 จุด เพิ่มขึ้น 19.24 จุด หรือ +0.13%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ยังคงช่วยหนุนตลาด
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 468.22 จุด เพิ่มขึ้น 2.84 จุด หรือ +0.61%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,746.23 จุด เพิ่มขึ้น 22.42 จุด หรือ +0.33%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,692.13 จุด เพิ่มขึ้น 137.05 จุด หรือ +0.88% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,123.86 จุด เพิ่มขึ้น 18.14 จุด หรือ +0.26%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน และการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในอังกฤษ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,123.86 จุด เพิ่มขึ้น 18.14 จุด หรือ +0.26%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 70 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) โดยสัญญาน้ำมันปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 2.41 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 68.15 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 2.03 ดอลลาร์ หรือ 2.80% ปิดที่ 70.38 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐขยายตัวน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 40 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 1,814.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 12.1 เซนต์ หรือ 0.47% ปิดที่ 25.461 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 25.60 ดอลลาร์ หรือ 2.45% ปิดที่ 1,021.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 6.40 ดอลลาร์ หรือ 0.20% ปิดที่ 2,651.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) หลังจากนายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในปีนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.21% แตะที่ 92.2686 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.46 เยน จากระดับ 109.11 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9063 ฟรังก์ จากระดับ 0.9041 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2551 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2537 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1838 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1863 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3887 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3915 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7382 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7393 ดอลลาร์