“ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ” ผนึก “ScII” วิจัยเทคโนโลยี – พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม
“ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ” ผนึก “ScII” ร่วมวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศด้านนวัตกรรม มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลใหม่ๆ รวมไปถึงการริเริ่มโครงการวิจัยและการบ่มเพาะธุรกิจร่วมกัน
นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ทัส จำกัด, นายฟรานซิส ชาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ทัส จำกัด และศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย กรรมการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ScII) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ อันเป็นการผนึกกำลังระหว่างภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษา
โดยความร่วมมือระยะเวลา 5 ปีนี้ มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศด้านนวัตกรรม มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลใหม่ๆ รวมไปถึงการริเริ่มโครงการวิจัยและการบ่มเพาะธุรกิจร่วมกัน ใน 3 สาขา ได้แก่ (1) เทคโนโลยีใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์และอื่นๆ (2) การผลิตขั้นสูงและกระบวนการทำงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยทรานฟอร์มระบบการทำงานสู่ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) การพัฒนาทรัพยากรบุคคล อาทิ งานวิจัยและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะในหลากหลายสาขา เช่น การเป็นผู้ประกอบการ การบริหารจัดการ และอื่นๆ
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะสำรวจโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือและการสนับสนุนเงินทุนแก่ธุรกิจที่กำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต ภายใต้บ่มเพาะโดย ScII และ/หรือทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ อีกด้วย
ทั้งนี้สืบเนื่องจากความร่วมมือในครั้งนี้ นิสิตจากสถาบันฯ มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฝึกงานกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ เพื่อนำความรู้และทักษะต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง โดยนิสิตจะได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากปัญหาที่พบเจอในภาคส่วนอุตสาหกรรม จนสามารถวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหา ตลอดจนนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้บริษัทนำไปพิจารณาปรับปรุงและต่อยอดได้ นอกจากนี้ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอจะให้บริการพื้นที่ทำงานในศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมแก่นิสิตจากสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการพิเศษของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับการบ่มเพราะโดยสถาบันฯ อีกด้วย
อีกทั้งทั้งนิสิตและสตาร์ทอัพจะได้รับประโยชน์จากบริการบ่มเพาะธุรกิจหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ รวมถึงบริการเพื่อการขยายธุรกิจ (Soft Landing) หรือโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพอื่นๆที่ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอพร้อมให้บริการแก่สมาชิกที่มาใช้บริการ
ด้านรศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในระหว่างพิธีลงนามว่า ด้วยการจับมือกันของทั้งสามฝ่ายในวันนี้ นอกจากจะตอกย้ำวิสัยทัศน์และเป้าหมายอันแน่วแน่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และทัสโฮลดิ้งส์ แล้ว ยังสอดคล้องกับการพัฒนาหลักสูตรความเชี่ยวชาญของสถาบันฯ ที่สร้างโอกาสในการพัฒนาความร่วมมืออันทรงคุณค่าร่วมกับพันธมิตร อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษา ตลอดจนสังคมไทยและจีนอีกด้วย
โดยการร่วมมือครั้งนี้จะครอบคลุมการแบ่งปันทรัพยากรทางวิชาการ การฝึกอบรม โครงการแลกเปลี่ยน การฝึกงาน รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอันยั่งยืน เกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างคุณค่าสู่สังคม ภายใต้เป้าหมายในการยกระดับประเทศให้พร้อมแข่งขันในระดับเอเชียแปซิฟิกต่อไป
ส่วนศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการปูรากฐานที่แข็งแกร่งในด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษา เหล่าพันธมิตร และอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในสายธุรกิจ การบริหารจัดการ และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นิสิตชั้นปีที่ 3 หลายคนได้รับโอกาสในการฝึกงานภาคฤดูร้อนเป็นเวลาสองเดือนกับดับบลิวเอชเอ ทัส รวมถึงดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป อีกด้วย
“ภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังอยู่ในยุคของการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัล เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ได้มีโอกาสสนับสนุนสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยทักษะและความสามารถที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การพลิกโฉมให้การทำงานในโรงงานและสำนักงานต่างๆ มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสอดคล้องต่อเนื่องกันทั้งระบบ เราหวังว่าความร่วมมือกับสถาบันฯ ในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมทั้งส่งเสริมโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง” นายวิวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้นายเสี่ยวเว่ย หม่า ประธานบริหาร บริษัท ทัสโฮลดิ้งส์ จำกัด เปิดเผยว่า ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศจีน ทัสโฮลดิ้งส์ มุ่งมั่นแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสานความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กร และภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งบริษัทฯมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย โดยมุ่งหวังที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสร้างระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีน ไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป