สื่อรายงาน “แบงก์ชาติ” จ่อคลอดมาตรการหนุนแฮร์คัตต้น-ดอก แทนยืดหนี้แค่ช่วงสั้น
สื่อรายงาน “แบงก์ชาติ” จ่อคลอดมาตรการหนุนแฮร์คัตต้น-ดอก แทนการยืดหนี้แค่ช่วงสั้น ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ระบาด
ผู้สื่อข่าวรายงาน เว็บไซต์ “ประชาชาติธุรกิจ” ระบุวันนี้ (11 ส.ค.) เมื่อประมาณ 17.00 น. ว่า นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. เตรียมออกมาตรการจูงใจเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 หลายระลอก ทั้งรายย่อยและธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวมากขึ้น ซึ่งบางกลุ่มธุรกิจอาจจะต้องมองยาวกว่า 2-3 ปี เช่น ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น ส่วนธุรกิจร้านอาหารอาจจะฟื้นได้เร็วกว่า
ทั้งนี้ ระยะเวลาจะขึ้นกับสภาวะของแต่ละเซ็กเตอร์ด้วย อย่างไรก็ดี ธปท. ต้องการเห็นมากกว่านั้น คือ สถาบันการเงินควรปรับเงินงวดการชำระให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้มากขึ้นด้วย
“ธปท. สนับสนุนให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าการพักหนี้ที่เป็นการช่วยระยะสั้นๆ เพราะถ้าหมดพักหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ต้องกลับมาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเหมือนเดิม แต่ส่วนใหญ่ยังพบว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านมานยังเป็นการยืดเวลาชำระ หรือพักหนี้ให้สั้นๆ ซึ่ง ธปท. อยากเห็นการปรับโครงสร้างอย่างมีคุณภาพ มีการแฮร์คัท ลดผ่อนชำระต่องวด และลดดอกเบี้ยด้วย” นายรณดลกล่าว
สำหรับมาตรการจูงใจ จะออกมาเร็วๆ นี้ โดยได้คำนึงทั้งผลกระทบต่อลูกหนี้และต่อสถาบันการเงิน โดยพยายามให้มีความสมดุลกันมากที่สุด ซึ่งสำหรับมาตรการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติม
“สถาบันการเงินสามารถปรับโครงสร้างหนี้ไปได้เลย ส่วนมาตรการจูงใจ จะออกมาควบคู่กัน เพื่อให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะยาวมากขึ้น ตลอดจนมีการแฮร์คัท และ ลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ด้วย” นายรณดล กล่าว
ด้าน นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า กำลังหารือกันว่า จะมีการปรับปรุงมาตรการจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะปรับเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ให้เหมาะสมกับระยะยาวมากขึ้น เพื่อให้แบงก์ไม่ต้องกังวลถึงการตั้งสำรองที่จะเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่จะเพิ่มขึ้น
ขณะที่ลูกหนี้ก็จะยังไม่ตกชั้นเป็นหนี้เอ็นพีแอล รวมถึงเกณฑ์ที่จะสนับสนุนให้แบงก์มีการช่วยเหลือลูกหนี้แบบลดต้นลดดอก ซึ่งจะต้องพยายามดูแลไม่ให้กระทบกับงบดุลของสถาบันการเงินด้วย
“อยากให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มาตกลงเจรจากัน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ยาวขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย หรือเอสเอ็มอีเล็ก ๆ ต้องมาดูว่าจะจูนกันอย่างไร อาจจะต้องมองระยะมากกว่า 3 เดือน 6 เดือน อย่างรายย่อยอาจจะ 2 ปี หรือรายใหญ่ อย่างธุรกิจโรงแรมอาจจะมองไปถึง 10 ปี” นางสาวสุวรรณี กล่าว
ส่วน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า รอบนี้ ธปท. ต้องการให้การช่วยเหลือลูกหนี้ลงไปในจุดที่ลึกมากขึ้น โดยบางเซ็กเตอร์อาจจะต้องช่วยแฮร์คัท หรือลดดอกเบี้ยด้วย เนื่องจากบางเซ็กเตอร์คงต้องใช้ระยะเวลากว่าจะฟื้นตัว อย่างเซ็กเตอร์ด้านท่องเที่ยวหรือขนส่ง ที่คงไม่ต่ำกว่า 1 ปี
ทั้งนี้ ล่าสุด ธปท. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเพียง 0.7% ปีหน้า 3.7% และ ยังคงมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าลง ทำให้ ธปท. เป็นห่วงภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานค่อนข้างมาก ซึ่งถูกกระทบทำให้รายได้ลดลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เนื่องจาก GDP ลดลงมาก