เปิดโผ 5 หุ้น “บลูชิพ” วิ่งแรงในรอบ 7 เดือน! พร้อมสอย 9 หุ้นราคาต่ำบุ๊ก

เปิดโผ 5 หุ้น “บลูชิพ” แชมป์หุ้นวิ่งในรอบ 7 เดือน! KCE นำทีมพุ่ง 89% พร้อมสอย 9 หุ้นราคาต่ำบุ๊ก อาทิ BBL, KBANK, EGCO, SCB, KTB, TOP, PTTGC, RATCH และ TTB


ทิศทางตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนก.ค. 64 SET Index ปิดที่ 1,521.92 จุด ลดลง 4.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยใน 7 เดือนแรกปี 64 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 5.0% ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆในภูมิภาค

โดยเดือนก.ค. 64 หลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 63 ได้แก่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มบริการ

ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET50 ในช่วง 7 เดือนแรก 2564 มานำเสนอเพื่อให้เห็นทิศทางหุ้นรายใดปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางปัจจัยลบ และเป็นโอกาสให้เข้าสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งราคาถูกเข้าพอร์ตอ่อนตัวเกินพื้นฐาน

สำหรับกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรง 5 อันดับของกลุ่ม SET50 โดยเปรียบเทียบข้อมูลราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.63-30 ก.ค.64 โดยเรียงลำดับราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงมากสุดไปหาน้อยสุด ประกอบด้วย KCE, SCGP, COM7, TU และ STA

ส่วน 9 หุ้นพื้นฐานแกร่งราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญ อาทิ BBL, KBANK, EGCO, SCB, KTB, TOP, PTTGC, RATCH และ TTB คาดเป็นข้อมูลให้นักลงทุนใช้พิจารณาในการตัดสินใจเลือกสะสมหุ้นเข้าพอร์ตอีกครั้งดังตารางประกอบ

อันดับ 1 คือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 89.16% จากระดับ 41.50 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 78.50 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มกำไรปีนี้โตแตะ 2.2 พันล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุได้บทวิเคราะห์ว่า KCE มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 770% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ได้คาดการณ์เอาไว้ที่ระดับ 17%

โดยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมีปัจจัยหลักมากจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ขยายตัว 29% จาก 18.2% ใรไตรมาส 2/2563 และเพิ่มขึ้น 25% ในไตรมาส 1/2564

ขณะที่รายได้ปรับขึ้นมาที่ 3.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่ต่ำในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก และขยายตัว 4% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามวันทำงานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทได้ประกาศจ่ายปันผล 0.60 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD วันที่ 23 สิงหาคม โดยคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังจะแข็งแกร่งกว่าครึ่งปีแรก ตามการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

 

อันดับ 2 บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 66.87% จากระดับ 41.50 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 69.25 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่งและแนวโน้มผลงานโดดเด่นปีนี้

โดยล่าสุด SCGP ปรับตัวขึ้นเป็นการตอบรับผลประกอบการไตรมาส 2/2564 และงวด 6 เดือนแรกประกาศออกมาแล้วเติบโตแข็งแกร่ง โดยบริษัทประกาศกำไรไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 2,263.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.85% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,904.22 ล้านบาท

ส่วนครึ่งปีแรก 2564 ทำกำไรสุทธิ 4,397.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.95% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3,636.34 ล้านบาท จากรายได้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และเส้นใยที่แข็งแกร่งและได้อานิสงส์จากการเข้าลงทุนกิจการใหม่ๆตั้งแต่ปีก่อน

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะ “ซื้อ” หุ้น SCGP หลังประกาศกำไรไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แข็งแกร่งตามคาด จากรายได้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และเส้นใยที่แข็งแกร่งและได้อานิสงส์จากการเข้าลงทุนกิจการใหม่ๆตั้งแต่ปีก่อน โดยยังมองบวกต่อกลยุทธ์ M&P ซึ่งจะหนุนการเติบโตระยะกลาง-ยาว พร้อมคาดกำไรปี 2564-2565 เพิ่มขึ้น 52%  จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 29% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยังคงราคาเป้าหมาย 76 บาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด แนะนำ “ซื้อ” หุ้น SCGP ราคาเป้าหมาย 78 บาท ประเมินว่าแนวโน้มของผลประกอบการของ SCGP ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยจะรับรู้กำไรจากบริษัท Duy Tan, Intan Group และ Deltalab ประเมินกำไรปี 2564 จะอยู่ที่ 9.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยเตรียมปิดอีก 2 Deals ในไตรมาส 3/2564 นี้ จาก 1) Intan Group ผู้ผลิตกระดาษลูกฟูกประเทศอินโดนีเซีย และ 2) Deltalab ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประเทศสเปน ซึ่งประเมินว่าจะช่วยเพิ่มกำไรในไตรมาส 4/2564 ได้ประมาณ 100-120 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือประมาณ 5%

ทั้งนี้ จะรับรู้กำไรจากบริษัท Duy Tan ประเทศเวียดนาม ในไตรมาส 3/2564 เป็นจำนวน 2 เดือน และจะรับรู้เต็มไตรมาสในไตรมาส 4/2564 คาดว่าจะช่วยกำไรของ SCGP เพิ่มอีกราว 8-10%

 

อันดับ 3  คือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 66.03% จากระดับ 39.00 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 64.75 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่ง เนื่องจากทำกำไรโตต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 และเป็นหุ้นเด่นที่ธุรกิจได้ประโยชน์ในช่วงการระบาดโควิด-19

ล่าสุด COM7 ประกาศงบไตรมาส 2/2564 กำไรแข็งแกร่งต่อเนื่อง อยู่ที่ 587 ลบ. พุ่งเกือบ 114% รายได้รวมทำได้กว่า 11,562 ลบ. เพิ่มขึ้นเกือบ 49% จากการเติบโตในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ แม้ในสถานการณ์โควิด พร้อมบริหารช่องทางการจำหน่ายให้แข็งแกร่งขึ้น

ณ สิ้นไตรมาส 2 มีสาขาอยู่ที่ 936 สาขาครอบคลุมทั่วประเทศ แผนครึ่งปีหลัง เดินหน้าขยายสาขาผ่านรูปแบบร้าน Pop-Up Store และ Stand Alone กระจายความเสี่ยง ลดผลกระทบในจังหวัดที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ประกอบกับ การรุกช่องทางออนไลน์ และบริการสินเชื่อผ่านโปรแกรมพิเศษ UFund & UNiDAYS และ True Loan หนุนยอดขายทำได้แล้ว 1,000 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนที่เปิดตัว

ส่วนโค้งสุดท้ายของปี มองผลงานจะเร่งฟื้นตัวรับไฮซีซั่นธุรกิจ มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ รวมทั้ง มาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ คงเป้ารายได้ปีนี้คาดเติบโต 20% ตามแผนเดิม

 

อันดับ 4 คือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 63.24% จากระดับ 13.60 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 22.20 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่งและแนวโน้มผลงานโดดเด่นปีนี้

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (10 ส.ค.64) TU (Upgrade TO from 22 to 23.8) งบไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 2373 ล้านบาท สูงกว่าคาด 17% และเพิ่ม 38% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และโต 32% เทียบไตรมาสก่อนหน้า เพราะยอดขาย+GPMเพิ่มขึ้น/สูงกว่าคาด

ส่วน Red Lobster ขาดทุนลดลง เทียบช่วงเดียวกัยของปีก่อน แนวโน้มคาดกำไรปกติไตรมาส 3/2564 อ่อนตัว เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้าเพราะโรงงานสงขลาหยุดผลิต 2 สัปดาห์เป็นสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคาดกระทบมาร์จิ้น มองเป็นโอกาสสะสม TU และให้เป็น Top pick ของกลุ่มฯ

ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า ธุรกิจของไทยยูเนี่ยนมีความหลากหลายในด้านต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดที่เรามีอยู่ทั่วโลก ประเภทของผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของรายได้บริษัท และนี่คือปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการดำเนินธุรกิจของเราในไตรมาสที่ผ่านมาทำผลงานได้ดี เรายังคงเน้นในเรื่องของความสามารถในการทำกำไร วินัยทางการเงินและธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่า

ในขณะที่ความต้องการอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเริ่มปรับตัวสู่ระดับปกติ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศที่เป็นตลาดหลักของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นฟื้นตัว  ส่งผลให้ผู้คนออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติมากขึ้น  ผมรู้สึกภูมิใจที่สินค้าของไทยยูเนี่ยนยังคงได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ และยินดีที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะใช้เวลาอยู่ที่บ้านหรือนอกบ้านก็ตาม

ในเดือน พ.ค.64 บริษัทได้ทำสัญญาซื้อหุ้นอีก 49%ที่เหลือของ บริษัท รูเก้น ฟิช (Rügen Fisch AG) รวมถือหุ้น 100% โดยรูเก้น ฟิช มีสำนักงานใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี  ล่าสุดมีผลประกอบการสูงกว่า 140 ล้านยูโร หรือประมาณกว่า 5,600 ล้านบาท และเป็นผู้นำตลาดอาหารทะเลกระป๋องในประเทศเยอรมนี

ในครึ่งแรกของปี 64 TU ยังคงดำเนินแผนกลยุทธ์ในการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่เน้นในเรื่องของนวัตกรรมรวมถึงสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนใน บริษัท วิอาควา บริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่พัฒนาการจัดการโรคในสัตว์น้ำ  บริษัท บลูนาลู ที่พัฒนาโปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยง และบริษัท อเลฟ ฟาร์มส์ ที่พัฒนาเนื้อสเต็กจากการเพาะเลี้ยงเซลล์

บริษัทมองไปยังครึ่งหลังของปี 64  ด้วยความเชื่อว่าบริษัทมีความสามารถที่สร้างความเติบโตอย่างเข้มแข็ง แต่อย่างไรก็ดี เรายังคงจับตาดูปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงความท้าทายต่างๆ

 

อันดับ 5  คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 42.45% จากระดับ 26.50 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 37.75 บาท ณ วันที่ 30 ก.ค.64 โดยราคาหุ้นปรับตัวแรงจากปัจจัยบวกการระบาดโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหนุนธุรกิจถุงมือยาง นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากภาพการส่งออกเติบโตและค่าเงินบาทอ่อนค่า

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (11 ส.ค. 2564) โดย STA ได้รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/2564 ที่ 5.04 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 15.40% จากไตรมาสก่อนแต่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 361.20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้รวมไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 2.98 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลง 5.60% จากไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวสูงขึ้น 95.40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากรายได้กลุ่มยางธรรมชาติที่ 1.68 หมื่นล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 4.50% จากไตรมาสก่อน และ 63.40% จากงวดเดียวกันของปีก่อนจากปริมาณขายยางธรรมชาติที่ 3.11 แสนตัน ปรับตัวลดลง 4.50% จากไตรมาสก่อนแต่ปรับตัวสูงขึ้น 30.20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้รายได้จากการขายถุงมือยางอยู่ที่ 1.30 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลง 16% จากไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวสูงขึ้น 162% จากงวดเดียวกันของปีก่อนจากปริมาณการขายถุงมือยางที่ 5.73 พันล้านชิ้น ปรับตัวลดลง 15% จากไตรมาสก่อน และ 22.80% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วน Gross Margin รวมอยู่ที่ 36.70% จาก Gross Margin กลุ่มยางธรรมชาติที่ 12.10% ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1/2564 ที่ 11.20% และ Gross Margin กลุ่มถุงมือยางที่ 68.70% ลดลงจากไตรมาส 1/2564 ที่ 75.90% เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยมีการปรับตัวลดลง 1.50% จากไตรมาสก่อน อีกทั้งค่าใช้จ่าย SG&A อยู่ที่ 1.73 พันล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนค่าขนส่งและค่าระวางเรือที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ทางฝ่ายวิจัยยังคงคาดยอดขายยางธรรมชาติ 3 แสนตันต่อไตรมาสเป็นอย่างต่ำ ส่งผลให้คาดว่าทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ 1.37 ล้านตัน และคาดว่ากลุ่มยางธรรมชาติจะมี Gross Margin ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ราคาโลกกำลังอยู่ในขาขึ้น และจาก Demand ที่แข็งแกร่งจากผู้ผลิตยางรถยนต์ส่งผลให้ทางฝ่ายวิจัยยังคงคาดการณ์กำไรปี 2564 ที่ 1.98 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”  ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 52.80 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี SOTP ที่อิงค่า P/E ของกลุ่มถุงมือยางที่ 5.50 เท่า และจากการอิงค่า P/E ของกลุ่มยางธรรมชาติที่ 5 เท่า และ STA ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 1.25 บาทต่อหุ้น และขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 23 ส.ค. 2564

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button