เครือปตท. โชว์ครึ่งปีแรกกำไร 1.38 แสนลบ. เด่นสุด PTT ฟาด 5.72 หมื่นลบ.
กลุ่มปตท. ครึ่งปีแรกกำไรสุทธิ 1.38 แสนลบ. เพิ่มขึ้น 83 เท่าตัว จากงวดเดียวของปีก่อน โดดเด่นอย่างแม่ PTT กำไร 5.72 หมื่นลบ. ตามด้วยลูก PTTGC เทิร์นอะราวด์ 3.43 หมื่นลบ.- PTTEP กำไร 1.87 หมื่นลบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลสำรวจงบการเงินในกลุ่มเครือปตท. มีอยู่ 7 บริษัท อาทิ PTT, OR, PTTEP, GPSC, PTTGC, IRPC และ TOP ปรากฏว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไรสุทธิรวม 68,976.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 206.12% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 22,532.41 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2564 กำไรสุทธิรวม 137,710.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,373.16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,625.26 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากภาพรวมกำไรสุทธิกลุ่มปตท.เติบโตแกร่งทั้งในงวดไตรมาส 2/2564 และ 6 เดือนแรก เนื่องจากผลการดำเนินงานออกมาสดใสทุกตัวโดยเฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2564
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 24,578.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.92% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 12,053.29 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 57,166.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 444.50% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 10,498.83 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิของปตท. ในครึ่งแรกปี 2564 เพิ่มขึ้น ตาม EBITDA ที่เพิ่มขึ้น และมีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ ตามสัดส่วนของ ปตท. โดยหลักจากการรับรู้กำไรจากการซื้อธุรกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของโครงการโอมาน แปลง 61 ประมาณ 7,000 ล้านบาท สุทธิกับการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่เกิดจากการสำรวจและประเมินค่าบางส่วนของโครงการสำรวจ ปิโตรเลียมในประเทศบราซิล ประมาณ 2,900 ล้านบาท ของ PTTEP และการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในการร่วมค้าของ PTTGC ประมาณ 1,500 ล้านบาท
ขณะที่ในครึ่งแรกปี 2563 มีการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยหลักจากโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ของ PTTEP รวมทั้งมีขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ที่ เพิ่มขึ้นในครึ่งแรกปี 2564
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,224.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 520.06% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 520.10 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,228.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 198.87% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,418.45 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ทั้งจากรายได้ขาย และ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 22,714 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10.6%) และ 5,126 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 76.0%) ตามลำดับ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ภาครัฐใช้มาตรการผ่อนคลายมากกว่า เมื่อเทียบกับรอบแรก ในปี 2563 ที่มีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการ Lockdown ทั่วประเทศไทย ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจน้ำมันและ กลุ่มธุรกิจ Non-Oil ดีขึ้น แม้ว่ากลุ่มธุรกิจต่างประเทศจะถูกกดดันจากความรุนแรงเพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในต่างประเทศ ที่ส่งผล ให้ผลการดำเนินลดลง โดยหลักในกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ รายการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง 1,108 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์น้ำมันจำนวนสูงโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานจากผลกระทบของ COVID-19 อีกทั้งประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้ลดลง เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม 2563 ได้ตั้งประมาณการดังกล่าว ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด ที่ได้ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,139.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.16% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,322.87 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 18,673.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.36% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 12,935.35 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิในครึ่งแรกปี 2564 เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการรับรู้กำไรจากการซื้อธุรกิจในราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของโครงการโอมาน แปลง 61 สุทธิกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยหลักจากการรับรู้ขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน (งวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563 รับรู้กำไร) และค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียม
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,302.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.42% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,895.97 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,275.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.01% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3,475.86 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิในครึ่งแรกปี 2564 เพิ่มขึ้น เป็นผลจากส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้น 610 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีภาวะภัยแล้ง และรับรู้รายได้บางส่วนจากเงินชดเชยค่าประกันภัย จำนวน 310 ล้านบาท ของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงาน ระยะที่ 5 จากการหยุดเดินเครื่องนอกแผนงาน (unplanned outage)
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 25,034.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,398.42% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,670.74 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทพลิกมีกำไรสุทธิ 34,729.60 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 7,113.37 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิในครึ่งแรกปี 2564 เพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2/2564 บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาขายของทุกผลิตภัณฑ์ที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และฟีนอลจากอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้น
รวมทั้งบริษัทฯ มีปริมาณการขายในภาพรวมเมื่อเทียบครึ่งปีก่อนที่เพิ่มขึ้น จากแผนการปิดซ่อมบำรุงตามแผนที่น้อยกว่า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่และค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาส 2/2563 จากค่าใช้จ่ายในการขายและจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้านค่าใช้จ่ายผันแปรที่เพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาส 2/2563
สาเหตุหลักมา จากการดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงงานใหม่ทั้งโรง Propylene Oxide (PO) โรง Polyols โรงโอเลฟินส์แห่งใหม่ (ORP) รวมทั้งโรง PTA โรงผลิตที่ 1 ด้านค่าใช้จ่ายทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาส 2/2563 เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการจัดหาเงินกู้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดอกเบี้ยรับลดลงตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยไตรมาสนี้บริษัทฯรับรู้การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากเงินบาทมีการอ่อนค่าจากไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน
บริษัทฯ ยังมีการรับรู้รายการพิเศษ จากการขายหุ้นสามัญของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)จำนวนร้อยละ 12.73 คงเหลือการถือหุ้น 10% ซึ่งรับรู้ในงบการเงินรวม 11,834 ล้านบาท และได้มีการจัดประเภทเงินลงทุนส่วนที่เหลือเป็นเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินไม่ หมุนเวียน ซึ่งมีกำไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมใหม่ ณ วันเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนอยู่ที่ 10,565 ล้านบาท
รวมทั้งยังมีการรับรู้การด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้า 3,021 ล้านบาท บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาส 2/2563 สาเหตุหลักมาจากผลประกอบในทุกบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทพลิกมีกำไรสุทธิ 4,574.16 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 410.93 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทพลิกมีกำไรสุทธิ 10,155.36 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 9,315.83 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2564 เพิ่มขึ้น บริษัทมีรายได้จากการขายจำนวน 105,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 43% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยโรงกลั่นน้ำมันมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 190,000 บาทร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้น 1%
บริษัทฯมี Market GIM อยู่ที่ 15,692 ล้านบาท (14.73 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้น 88% เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จากการที่ประชากรทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร ทำให้บริษัทฯมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 8,509 ล้านบาท หรือ 7.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบด้วยกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 8,329 ล้านบาท และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง (Realized Oil Hedging) 180 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 6,722 ล้านบาท
ทั้งนี้ส่งผลให้บริษัทมี Accounting GIM จำนวน 24,201 ล้านบาท หรือ 22.72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 22,589 ล้านบาท หรือ 21.24 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ค่าใช้จ่ายดำเนินงานมีจำนวน 6,634 ล้านบาท ลดลง 3% ส่งผลให้บริษัทมี EBITDA จำนวน 17,678 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนของ EBITDA จำนวน 4,932 ล้านบาท
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,122.68 ล้านบาท ลดลง 14.42% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,480.37 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทพลิกมีกำไรสุทธิ 5,482.68 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 11,274.13 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2564 เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 151,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,755 ล้านบาท สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับน้ำมันเตา และส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงกำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจผลิตสาร LAB ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบ จากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 2.2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 4.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ในครึ่งแรกปี 2564 ยังมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 8,439 ล้านบาท เทียบกับผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 12,176 ล้านบาทในครึ่งแรกปี 2563 ประกอบกับมีการกลับรายการมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและ น้ำมันสำเร็จรูป 38 ล้านบาท ในขณะที่มีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 1,011 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี ก่อน เมื่อรวมผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ175 ล้าน ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA 15,275 ล้านบาท เทียบกับผล ขาดทุน EBITDA 9,367 ล้านบาท