SPCG โกยกำไร 6 เดือน 1.5 พันลบ. แจกปันผล 0.25 บ. เร่งเติมเงินลงทุน 2 โครงการใหญ่ญี่ปุ่น
SPCG เปิดกำไร 6 เดือน 1.5 พันลบ. เคาะปันผลระหว่างการ 0.25 บ. ออกหุ้นกู้ 2,500 ล้านบาท เตรียมเงินลงทุนใน 3-5 ปี เร่งเติมเงินลงทุน 2 โครงการใหญ่ในญี่ปุ่น มั่นใจอนาคตสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับคืนมา
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยผลประกอบการงวด 6 เดือนหรือครึ่งปีแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิกว่า 1,483.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรอยู่ที่ 1,584.3 ล้านบาท และรายได้รวมกว่า 2,360.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2,629.2 ล้านบาท โดยไตรมาส 2 ปีนี้กำไรสุทธิกว่า 701.3 ล้านบาท
นอกจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากงวดผลดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2564 และกำไรสะสมในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท จำนวน 1,055,790,000 หุ้น รวมเป็นจำนวนเงิน 263,947,500.00 (สองร้อยหกสิบสามล้านเก้าแสนสี่หมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาท)
โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 กันยายน 2564
สำหรับในไตรมาส 2 นี้ โซลาร์ฟาร์มที่ นครพนม 1 ค่าแอดเดอร์หรือรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่หน่วยละ 8 บาท ได้สิ้นสุดลง ซึ่งถ้ารวมตั้งแต่ปี 2563 บริษัทมี 3 โซลาร์ฟาร์ม ที่ค่าแอดเดอร์หมดไปจากทั้งหมด 36 แห่ง ได้แก่ โครงการที่ โคราช 1 (20 เมษายน 2563), สกลนคร 1 (8 กุมภาพันธ์ 2564) และ นครพนม 1 (19 เมษายน 2564) อย่างไรก็ตามแม้ค่าแอดเดอร์หมดไปบริษัทยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ
โดยสาเหตุที่บริษัทมีกำไรลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้แผนงานหลายโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะบริษัทย่อย โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ (SPR) ที่ให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เนื่องจากลูกค้าโรงงานหลายแห่งชะลอการติดตั้งจากกรณีล็อกดาวน์ และลูกค้าโรงงานที่เป็นชาวญี่ปุ่นต่างต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อรับวัคซีน
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ารายได้จาก SPR ในปีนี้จะไม่เป็นไปเป้าหมายที่ตั้งประมาณการณ์ไว้ เช่นเดียวกับ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET ENERGY) ที่ดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เมืองใหม่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ หรือ อีอีซี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทำให้บริษัทต้องชะลอแผนการดำเนินงานโครงการออกไป ส่งผลให้การรับรู้รายได้จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ปีนี้ อาจต้องเลื่อนออกไปราวไตรมาส 1-2 ปี 2565
อย่างไรก็ตามแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่บริษัทก็ยังคงสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องและสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เช่นเดิม แม้บริษัทต้องรักษากระแสเงินสดไว้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินงานและลงทุนต่อไปในอนาคต
ดร.วันดี กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้บริษัททำกำไรได้ต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเดินหน้านโยบายปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุน O&M (Operating & Maintenance) สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มทั้งในปัจจุบันและอนาคต ลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ และบริษัทมั่นใจหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลายลง จะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจโลกกลับคืนสู่ปกติ SPCG จะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นในอนาคต เพราะได้เตรียมแผนลงทุนเพิ่มในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้
ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนออกหุ้นกู้จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุน 1. โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ “Ukujima Mega Solar Project” ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 54,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,700 ล้านบาท
2.โครงการ “Fukuoka Miyako Mega Solar” ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ งบการลงทุนประมาณ 23,493 ล้านเยน โดย SPCG ถือหุ้นในโครงการนี้ราว 10% คิดเป็นเงินลงทุนราว 94 ล้านบาท และ 3. เงินลงทุนในบริษัท MSEK ที่ทำธุรกิจลิสซิ่งให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในไทย 4. ใส่เงินลงทุนในบริษัท SET ENERGY นอกจากนั้นเป็นเงินลงทุนต่อไปในอนาคต
สำหรับ 2 โครงการใหญ่ที่ญี่ปุ่น ขณะนี้เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น สำหรับโครงการ Ukujima Mega Solar Projectบริษัทจะชำระเงินงวดที่เหลือภายในไตรมาส 1 ปี 2565 ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ Fukuoka Miyako Mega Solar ณ เกาะคิวชู (Kyushu) เมืองมิยาโกะ ประเทศญี่ปุ่น บริษัทมีแผนที่จะเข้าไปร่วมทุนภายในไตรมาส 3 ปี 2564
“บริษัทมั่นใจว่าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นทุกโครงการที่บริษัทลงทุน จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับคืนมาให้บริษัทได้ในอนาคต” ดร.วันดี กล่าว
สำหรับโครงการ Ukujima Mega Solar Project มีผู้ร่วมลงทุนได้แก่ Kyocera Corporation, Kyudenko Corporation, Tokyo Century Corporation, Furukawa Electric Company Limited, Tsuboi Corporation และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 54,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,700 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ชำระทุนไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2563
เป็นจำนวนเงิน 686 ล้านบาท และ 582 ล้านบาท ตามลำดับ และมีแผนจะชำระทุนงวดที่เหลือ จำนวนประมาณ 1,390 ล้านบาท โดยทยอยแบ่งจ่าย ภายในปี 2564 และงวดสุดท้ายราวไตรมาสแรกปี 2565 ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2566 เป็นต้นไป
ด้าน โครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ งบการลงทุนประมาณ 23,493 ล้านเยน มีผู้ร่วมทุนได้แก่ TESS Holdings ถือหุ้น 10%, Mitsubishi HC Capital (MUL) 50%, Sumitomo Mitsui Finance & Leasing (SMFL) 30% และ SPCG 10% ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนไทยราว 94 ล้านบาท
ส่วนบริษัท MSEK Power Co., Ltd. (MSEK) เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Mitsubishi HC Capital Inc. (MHC) 49%, Bangkok Mitsubishi HC Capital Co., Ltd. (BMHC) 11%, SPCG 25% และ PEA ENCOM 15% ซึ่ง SPCG จะใส่เงินลงทุนราว 194 ล้านบาท
สำหรับบริษัท SET ENERGY ปัจจุบัน SPCG ถือหุ้น 80% และ PEA ENCOM ถือ 20% ซึ่งบริษัทต้องใส่เงินลงทุนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเงินลงทุนต่าง ๆ ตามแผนงานที่บริษัทวางไว้ นอกเหนือการออกหุ้นกู้แล้วส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนของบริษัทที่ได้วางแผนบริหารกระแสเงินสดรักษาสภาพคล่องไว้แล้ว
นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยจะเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก โดยได้ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2568) จะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และภายในปี 2580 ไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ โดยในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตราว 10% หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท
สำหรับบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำธุรกิจด้านพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ บริษัทยังคงมุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อม และเดินหน้าช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศของโลกประมาณ 200,000 ตัน CO2 ต่อปี จากการดำเนินงานโครงการโซลาร์ฟาร์ม 36 โครงการ รวมกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์