เปิด 5 หุ้นเล็ก! ราคา “เซลออนแฟคท์” งบ Q2 เด่น ชี้พักฐานหลังพุ่งแรง
ราคาพักฐาน! INSET- APURE-SONIC- BIZ-SMD เกิดกki “เซลออนแฟคท์” หลังประกาศงบไตรมาส 2/64 และงวด 6 เดือนแรกออกมาดี คาดเป็นการเทขายทำกำไรออกมาเมื่อรับรู้ประเด็นไปแล้ว เนื่องจากมีการเข้าเก็งกำไรช่วงก่อนหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 หุ้นขนาดเล็กหลายตัว ได้แก่ INSET, APURE, SONIC, BIZ และ SMD เป็นต้น ผลปรากฏว่าราคาหุ้นบนกระดานปรับตัวลงกันทั่วหน้า แม้ว่าประกาศงบไตรมาส 2/2564 และงวด 6 เดือนแรกออกมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอย่างเป็นที่น่าพดใจ
โดยสันนิษฐานได้ว่าจากราคาหุ้นปรับตัวลงเป็นเพียง “เซลออนแฟคท์” เป็นการรับรู้เรื่องราวงบการเงินไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะส่วนใหญ่มีการเก็งกำไรมากันช่วงก่อนหน้า หลังจากที่มีบทวิเคราะห์หลายสำหนักออกมาประเมิน หรือคาดการณ์ไว้ว่างบจะออกมาดีก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ราคาหุ้นอาจต้องพักฐานก่อน
บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET โดยวันที่ 13 ส.ค. 2564 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 7.05 บาท ลดลง 0.45 บาท หรือ 6% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 231.24 ล้านบาท ส่วนหากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นบนกระดานจะพบว่ามีการปรับตัวขึ้นจาก ณ วันที่ 9 ก.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 3.76 บาท แล้วค่อยๆปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงวันที่ 11 ส.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 7.50 บาท โดยช่วงระยะดังกล่าวราคาหุ้นปรับตัวขึ้นราว 99.47% ซึ่งเป็นเรื่องปกติจะเห็นราคาหุ้นเซลออนแฟคท์
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 37.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.61% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 30.12 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 60.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.76% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 50.16 ล้านบาท
โดยรายได้หลักของไตรมาสนี้มาจากรายได้จากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมและคมนาคมขนส่ง รองลงมาเป็น รายได้งานซ่อมบำรุงและบริการและรายได้จากธุรกิจก่อสร้างศูนย์ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามลำดับ
บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE โดยวันที่ 13 ส.ค. 2564 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 8.40 บาท ลดลง 0.60 บาท หรือ 6.67% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 261.53 ล้านบาท ส่วนหากย้อนหลังกลับไปดูราคาหุ้นบนกระดานจะพบว่าราคาหุ้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจาก ณ วันที่ 9 ก.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 4.20 บาท จากนั้นราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 ราคาหุ้นปิดอยู่ที่ 9.40 บาท โดยช่วงระยะดังกล่าวราคาหุ้นปรับตัวขึ้นราว 123.81% ซึ่งเป็นเรื่องปกติจะเห็นราคาหุ้นเซลออนแฟคท์
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 86.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.82% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 50.11 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 148.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.84% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 132.57 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุที่อัตรากำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้น คือ ทางบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับ เงินสกุลเหรียญสหรัฐอเมริกา
บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC โดยวันที่ 13 ส.ค. 2564 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 4.98 บาท ลดลง 0.47 บาท หรือ 8.62% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 183.08 ล้านบาท ส่วนหากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นบนกระดานปรับตัวชัดเริ่ม ณ วันที่ 28 พ.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 3.48 บาท จากนั้นราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาถึงวันที่ 4 ส.ค. 2564 ราคาหุ้นปิดอยู่ที่ 5.90 บาท โดยช่วงระยะดังกล่าวราคาหุ้นปรับตัวขึ้นราว 69.54% ซึ่งเป็นเรื่องปกติจะเห็นราคาหุ้นเซลออนแฟคท์
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 41.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 525.75% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.68ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 82.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 309.02% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 20.18 ล้านบาท ทั้งนี้จากรวมรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นจากทั้ง 3 สวนธุรกิจ บริการขนส่งทางเรือ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่กลุ่มบริษัทสามารถบริหารให้สามารถรองรับการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าเดิมและยังมีการเพิ่มขึ้นของลูกค้ารายใหม่อีกด้วย
ต่อมารายได้จากการให้บริการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากจำนวนเที่ยวของรถขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากการให้บริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการอื่นๆเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยรายได้ค่าบริการศูนย์รวบรวมกระจายสินค้า รายได้จากบริการสำหรับสินค้าอันตราย และรายได้จากการให้บริการลานตู้
บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIZ โดยวันที่ 13 ส.ค. 2564 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 11.00 บาท ลดลง 1.80 บาท หรือ 14.06% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 185.66 ล้านบาท ส่วนหากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นบนกระดานจะพบว่ามีการปรับตัวขึ้นจาก ณ วันที่ 10 พ.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 4.52 บาท แล้วค่อยๆปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 12.90 บาท โดยช่วงระยะดังกล่าวราคาหุ้นปรับตัวขึ้นราว 185.40% ซึ่งเป็นเรื่องปกติจะเห็นราคาหุ้นเซลออนแฟคท์
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 111.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 348,306.25% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 0.032 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 193.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,162.25% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 15.31 ล้านบาท ทั้งนี้มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีการส่งมอบงานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ
รวมทั้งรายได้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งหนึ่งให้กับลูกค้า โดยบริษัททยอยรับรู้รายได้ค่าก่อสร้างจากอัตราส่วนของต้นทุนงานตามสัญญาที่ทำเสร็จเทียบกับประมาณการต้นทุนงานก่อสร้างทั้งสิ้น ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 บริษัทรับรู้รายได้รายได้จากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวรวมทั้งสิ้นร้อยละ 84.70 และรายได้จากกิจการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าที่เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาล
บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD โดยวันที่ 13 ส.ค. 2564 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 14.60 บาท ลดลง 1.10 บาท หรือ 7.01% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 293.49 ล้านบาท ส่วนหากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นบนกระดานจะพบว่ามีการปรับตัวขึ้นจาก ณ วันที่เข้าเทรดวันแรก 17 มิ.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 9.20 บาท แล้วค่อยๆปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 16.40 บาท โดยช่วงระยะดังกล่าวราคาหุ้นปรับตัวขึ้นราว 78.26% ซึ่งเป็นเรื่องปกติจะเห็นราคาหุ้นเซลออนแฟคท์
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 66.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.83% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 31.03 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 74.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156.89% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 28.83 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลัก ที่ทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานดีขึ้นและอัตรากำไรสูงขึ้น มาจากการเติบโตของรายได้จากการขาย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่า แต่ยังมีค่าใช้จ่ายไม่ประจำเกิดขึ้น ได้แก่ ค่าปรับจากการส่งมอบสินค้าล่าช้า และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน