เปิดโผ 6 หุ้น “อสังหาฯ” ไตรมาส 2 ยอดขาย-โอนพุ่ง หนุนกำไรแกร่ง

เปิด 6 หุ้น อสังหาฯ ไตรมาส 2/64 โชว์รายได้-กำไร โตแจ่ม รับอานิสงส์ยอดขายบ้าน-คอนโด-โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น! จับตาครึ่งปีหลังผลประกอบการบริษัทดีต่อหรืออ่อนตัว หลังภาคอสังหาฯ ตลาดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อาจชะลอตัวหากโควิด-19 ยังกดดัน


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” นำเสนอข้อมูลหลักทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศงบการเงินไตรมาส 2/2564 ออกมาเติบโตแกร่ง จากยอดขายบ้านแนวราบ และคอนโด รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ายังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ดียังมี 6 บริษัทสามารถฝ่าวิกฤตโควิด โชว์รายได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น หนุนให้กำไรไตรมาส 2/2564 ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ SPALI, LH, ORI, SC, PSH พร้อมด้วย ANAN พลิกทำกำไรสุทธิ เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7,235.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138.02% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,039.89 ล้านบาท ส่งให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,730.47 ล้านบาท หรือ 311.93% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 420.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯมีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการโอนกรรมสิทธิ์โครงการอาคารชุดสร้างเสร็จใหม่ โดยเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2564 และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมเนื่องจากการร่วมค้าและบริษัทร่วมมีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการในประเทศออสเตรเลียเพิ่มขึ้น

สำหรับในระยะต่อไป บล.เคจีไอ คาดว่ากำไรของ SPALI จะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 3/2564 จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโครงการแนวราบ และถึงกำหนดเริ่มโอนโครงการ Supalai Veranda สถานีภาษีเจริญ ในไตรมาส 3/2564 โดยยังคงคำ แนะนำ “ซื้อ” และประเมินราคาเป้าหมายที่ 27.50 บาท อิงจาก P/E ปี 2565 ที่ 9.40 เท่า

บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 9,153.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.29% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 8,298.88 ล้านบาท ส่งให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,869.53 ล้านบาท หรือ 34.02% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,394.93 ล้านบาท โดยจากรายได้จากการขายซึ่งเป็นผลมาจากการขายบ้านเดี่ยวที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงในสัดส่วนที่มากขึ้น รวมทั้งมีรายได้จากการขายทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น และรายได้จากการขายคอนโดมีเนียมเพิ่มขึ้น

สำหรับระยะต่อไป บล.ทรีนีตี้ ยังคงคาดการณ์กำไรและยอดโอนปี 2564 หลังจากรายได้จากยอดโอนรวมในครึ่งแรกปี 2564 อยู่ที่ 1.56 หมื่นล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 27% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และหากนับรวมกับยอด Backlog ที่รอโอนในปี 2564 มูลค่า 4.60 พันล้านบาท จะนับเป็น 70% ของที่คาดการณ์ยอดโอนที่ 2.90 หมื่นล้านบาท และยังคงคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2564 ที่ 7.46 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดีในไตรมาส 3/2564 คาดว่าจะมีผลประกอบการอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อน จากผลกระทบของการ Lockdown ที่ส่งผลให้ยอด Visit โครงการลดลง อย่างไรก็ดียังคงคาดว่า LH จะสามารถเปิดตัวโครงการใหม่อีก 8 โครงการมูลค่ารวม 1.37 หมื่นล้านบาท ที่จะมาเสริมยอดขายและยอดโอนในช่วงที่เหลือของปี ในขณะที่แผนการเปิดโครงการ Terminal 21 Rama 3 คาดว่าจะเลื่อนไปยังปี 2565 แทน และกลุ่มโรงแรมในประเทศคาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องจากการพึ่งพาเพียง นักท่องเที่ยวในประเทศ

โดยคาดว่าระดับ Gross Margin ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 31 – 32% ในขณะที่ยอดขายจากโครงการแนวราบยังคงเป็นกำลังหลักในการหนุนการเติบโต จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 9.45 บาท

บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3,801.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.46% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,292.37 ล้านบาท ส่งให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 852.00 ล้านบาท หรือ 20.48% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 707.17 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กิจการร่วมค้าใกล้เคียงกับงวดกันของปีก่อน และมีการเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่พัฒนาภายใต้กิจกรรมร่วมค้า ซึ่งผลประกอบการของกิจการร่วมค้าจะถูกแสดงเป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

สำหรับระยะต่อไป บล.เคทีบีเอสที ยังประเมินกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 3.20 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรปกติจะอยู่ที่ 2.80 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรปกติครึ่งแรกปี 2564 คิดเป็น 50% จากทั้งปี สำหรับกำไรปกติไตรมาส 3/2564 และไตรมาส 4/2564 จะดีขึ้นจากไตรมาส 2/2564 เนื่องจากจะมีคอนโดใหม่ เริ่มโอน 4 โครงการ โดยมีโครงการขนาดใหญ่เริ่มโอน ได้แก่ โครงการ Park Origin Phayathai มูลค่าโครงการ 4.60 พันล้านบาท โดยทำยอดขายได้แล้วไม่ต่ำกว่า 60% จะเริ่มโอนปลายไตรมาส 3/2564

นอกจากนั้น ORI ยังมี Backlog ที่จะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2564 แล้วสูงไม่ต่ำกว่า 90% ของรายได้ รวม (รวม JV) ช่วยจำกัดความเสี่ยงจากกำลังซื้อที่อาจชะลอตัว และจะทำให้แนวโน้มกำไรในปี 2564 จะเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยประเมินได้ ประเมินราคาเป้าหมายที่13.00 บาท

บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4,758.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 4,568.78 ล้านบาท ส่งให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 520.00 ล้านบาท หรือ 13.99% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 456.17 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขายโครงการแนวสูง

สำหรับระยะต่อไป บล.เอเชีย เวลท์ คาดว่าผลประกอบการในครึ่งหลังของปี 2564 จะยังดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปิดแคมป์แรงงานก่อสร้างเป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากโครงการคอนโดมิเนียมที่บริษัทมีอยู่เป็นโครงการพร้อมโอน และไม่มีโครงการที่จะแล้วเสร็จใหม่ในปีนี้ รวมทั้งโครงการแนวราบ ปกติจะมีสต๊อกรองรับการขาย ไว้ 2-3 เดือน ทำให้คาดว่าประเด็นดังกล่าวจะกระทบในวงจำกัด ทำให้ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 3.28 บาท

บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6,389.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.68% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 6,22.81 ล้านบาท ส่งให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 427.47 ล้านบาท หรือ 2.55% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 416.86 ล้านบาท โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น จากกลุ่มผลติภัณฑ์ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว และอาคารชุด  ตามลำดับ

สำหรับระยะต่อไป บล.เมย์แบงก์ อิมเอ็ง ประเมินว่าการปิดสถานที่ก่อสร้างหนึ่งเดือนในเดือนกรกฎาคมและการล็อกดาวน์กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายธุรกิจคอนโดมิเนียมอย่างน้อยสองแห่งจาก 7 แห่งที่วางแผนจะแล้ว เสร็จภายในสิ้นปี 2564 ต้องเลื่อนออกไปปีหน้า และคาดว่าโครงการใหม่จำนวนมากที่มีแผน จะเปิดตัวในครึ่งหลังปี 2564 จะต้องถูกเลื่อนออกไปในปีหน้าเช่นกัน

ทั้งนี้ PSH ตั้งเป้าเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่า 2.66 หมื่นล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้น 69% จากงวดเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้โรงพยาบาลวิมุติมีแนวโน้มที่จะขาดทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือ 300 ล้านบาท ในปี 2564 อาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ในการสร้างผลกำไร อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดูแลสุขภาพ น่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจที่อยู่อาศัยในระยะยาว

อย่างไรก็ดีปรับลดประมาณการกำไรปี 2564-2565 ลง 10% เป็น 2.7 พันล้านบาท และ 2.9 พันล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากอัตรากำไรขั้นต้นอ่อนแอที่ 27-28% (ค่าเฉลี่ย 36% ปี 2559-2563) อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อการขายที่สูงขึ้น และอัตรากำไรสุทธิที่ต่ำกว่า 10% (ค่าเฉลี่ย 12% ปี 2559-2563) แนะนำ “ขาย” ราคาเป้าหมายใหม่ 10.7 บาท

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,189.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,093.47 ล้านบาท ส่งให้บริษัทพลิกมีกำไรสุทธิ 9.07 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 574.71ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์โครงการแนวราบที่เพิ่มขึ้น

สำหรับระยะต่อไป ลบ.เคจีไอ ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 ลงจากเดิม 91% และ 20% เพื่อสะท้อนถึง  ยอดโอนโครงการ คอนโดมิเนียมที่ลดลง และการปรับลดส่วนแบ่งกาไรจากโครงการ JV ในปี 2564-2565 ลง 63% และ 8% จากยอด presales ที่อ่อนแอลงและอัตรากำไรที่ต่ำกว่าคาด

ขณะที่คาดวาผลประกอบการจะอ่อนแอในปี 2564-2566 เนื่องจากการที่บริษัทไม่ได้เปิดโครงการใหม่เพิ่มจะส่งผลกระทบกับแนวโน้มกำไรในระยะยาว ในขณะที่อัตรากำไรที่บางมากจะฉุดรั้งแนวโน้มผลประกอบการท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นในตลาดคอนโดมิเนียม  ยังคงคำแนะนำ “ขาย” และประเมินราคาเป้าหมายใหม่ที่ 1.40 บาท

โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ผลปรากฏมีเพียง 6 บริษัทของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์สามารถฝ่าฟันช่วงเศรษฐกิจมีการชะลอตัวจากพิษโควิด-19 ระบาดทำให้กำลังซื้อของประชาชนชะงักลงโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่ยังไม่ดีขึ้นการบริการจัดการของบริษัทต่างๆ จะยังช่วยประคับประครองยอดขายบ้าน และคอนโด จะยังคงราบรื่นได้ต่อหรือไม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ตามแนวโน้มของนักวิเคราะห์ประเมินไว้เบื้องต้นมีทั้งดีต่อและอาจเห็นผลประกอบการอ่อนตัวลง

ส่วนด้าน ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หน่วยงานกลางจัดเก็บข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เตรียมทบทวน (Review) และปรับมุมมองต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2564 ใหม่ เนื่องจากเกิดปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามากระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างชัดเจนในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ต้นไตรมาส 3 ของปี 2564 (ก.ค.-ก.ย.)

โดยเริ่มจาก การปิดแคมป์คนงานก่อสร้างชั่วคราว 1 เดือน (มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย.64) เพื่อควบคุมการเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 จากแคมป์คนงานก่อสร้าง ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ณ สิ้นปี 2563 มีบ้านจัดสรรและคอนโดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ขายแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 51,153 หน่วย มูลค่ารวมกัน 274,716 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนให้ลูกค้าไปแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและต้องส่งมอบในปีนี้ กระทั้งมีการประกาศ “ล็อกดาวน์ 14 วัน” มาตรการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมานี้
“ตัวเลขสำคัญต่างๆ ของภาคอสังหาฯ มีแนวโน้มน่าจะปรับตัวลงต่ำกว่ากรณี Base Case ที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง แต่คาดว่าไม่น่าจะหลุดเกินกรณี Worst Case (เลวร้ายสุด) ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลฯ กำลังประเมินตัวเลขและภายในเดือนสิงหาคม จะเปิดตัวเลขที่รีวิวตลาดอสังหาฯ ปี 2564 ใหม่” ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์  กล่าว

ตามข้อมูลของภาคอสังหาฯ ปี 2564 บ่งชี้ว่า ตลาดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลอยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดว่าหน่วยเปิดขายใหม่รวมอาคารชุดและบ้านจัดสรร ในปี 2564 ของกรณีฐาน Base Case ที่ประมาณไว้ที่จำนวน 62,592 หน่วย ลดลง -5.5% เป็นมูลค่า 323,600 ล้านบาท ลดลง -3.1%

นอกจากนี้การวิเคราะห์และประเมินใหม่จะลดลงแต่ไปในกรอบที่ไม่ต่ำกว่า Worst Case ที่หน่วยเปิดใหม่ 56,333 หน่วย (ซัปพลายหายไป 6,259 หน่วย) ลดลง -14.9% เป็นมูลค่า 291,242 ล้านบาท (มูลค่าหายไป 32,358 ล้านบาท) ลดลง -12.8% ทั้งนี้ การติดลบเป็นผลจากการที่โครงการอาคารชุดมีการเปิดตัวลดลงอย่างมาก

สำหรับยอดขายจะลดลงจาก Base Case ที่มีจำนวน 69,996 หน่วย สมมติฐานเดิมเพิ่มขึ้น 4% ส่วนมูลค่าประมาณ 312,000 ล้านบาท ลดลง -4.3% จะลดลงแต่ไม่เกิน Worst Case ที่มียอดขายลดลงเหลือ 62,996 หน่วย ลดลง -6.4% เป็นมูลค่า 294,500 ล้านบาท ลดลง -9.1% ทั้งนี้ การติดลบเป็นผลจากยอดขายของอาคารชุดที่ลดลง

ขณะที่สต๊อกเหลือขายเพิ่มขึ้นรวม1.83 แสนหน่วย ยอดโอนลด -13.6% ส่วนการที่หน่วยเปิดตัวใหม่และยอดขายที่ลดลง ทำให้หน่วยเหลือขายสะสม ณ สิ้นปี 2564 น่าจะเหลือไม่เกินกว่ากรณี Worst Case ที่ 183,511 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.2% โดยมีมูลค่าประมาณ 935,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% และมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์รวมประมาณ 169,844 หน่วย ลดลงไม่เกินกว่า -13.6% และมีมูลค่าโอนประมาณ 544,320 ล้านบาท ลดลงไม่เกินกว่า -11.3% ในกรณี Worst Case

ดังนั้นต้องจับตาว่าครึ่งปีหลังบริษัทกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะทำโปรโมชั่นหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบในการขายอย่างไรเพื่อให้ยอดขายดีเหมือนไตรมาส 2/2564

Back to top button