สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ส.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ส.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.) โดยดัชนีดาวโจนส์ และ S&P500 ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และปิดตลาดสัปดาห์นี้ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน หลังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นวอลท์ ดิสนีย์ แต่ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากถูกกดดันจากการเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ลดลงเกินคาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,515.38 จุด เพิ่มขึ้น 15.53 จุด หรือ +0.04%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,468.00 จุด เพิ่มขึ้น 7.17 จุด หรือ +0.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,822.90 จุด เพิ่มขึ้น 6.64 จุด หรือ +0.04%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.) แตะระดับนิวไฮอีกครั้ง และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันท่ามกลางความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 475.83 จุด เพิ่มขึ้น 0.99 จุด หรือ +0.21%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,896.04 จุด เพิ่มขึ้น 13.57 จุด หรือ +0.20%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,977.44 จุด เพิ่มขึ้น 39.93 จุด หรือ +0.25% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,218.71 จุด เพิ่มขึ้น 25.48 จุด หรือ +0.35%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.) และปรับตัวขึ้นในสัปดาห์นี้ต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์และกลุ่มค้าปลีก
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,218.71 จุด เพิ่มขึ้น 25.48 จุด หรือ +0.35% และปรับตัวขึ้น 1.30% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 65 เซนต์ หรือ 0.90% ปิดที่ 68.44 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 0.20% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 72 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 70.59 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวลง 0.20% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ลดลงเกินคาด ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย
ทั้งนี้สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 26.40 ดอลลาร์ หรือ 1.51% ปิดที่ 1,778.20 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้นเกือบ 0.90% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 66.30 เซนต์ หรือ 2.87% ปิดที่ 23.779 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 8.30 ดอลลาร์ หรือ 0.82% ปิดที่ 1,026 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 32.60 ดอลลาร์ หรือ 1.20% ปิดที่ 2,656.50 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.) โดยดอลลาร์ถูกกดดันหลังจากที่มีการเปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงเกินคาด
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.55% แตะที่ 92.5195 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.58 เยน จากระดับ 110.46 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9152 ฟรังก์ จากระดับ 0.9239 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2517 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2527 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1794 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1729 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3868 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3800 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7373 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7332 ดอลลาร์สหรัฐ