CIMBT หั่นเป้า GDP ปี 64 อีกรอบ! เหลือโต 0.4% เซ่นโควิดยืดเยื้อ
CIMBT หั่นเป้า GDP ปี 64 อีกรอบ! เหลือโต 0.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.3% ในเดือน ก.ค.64 มองครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยเสี่ยงจะชะลอกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า พร้อมประเมินหากโควิดยืดเยื้อต่อไปจนกระทบการส่งออก มีโอกาสติดลบได้ถึง -1.1% ในปีนี้ และอาจไม่ขยายตัวเลยในปีหน้า
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า สำนักวิจัย CIMBT ปรับลดการคาดการณ์ที่เคยให้ไว้ในเดือน ก.ค.64 ที่ 1.3% ลงเหลือ 0.4% ในปี 64 และ จาก 4.2% เหลือ 3.2% ในปี 65 หลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2/64 ขยายตัว 7.5% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน หรือ 0.4% จากไตรมาส 1/64 หลังปรับฤดูกาล และคาดทั้งปี 64 จะขยายตัว 0.7-1.3% หรือเฉลี่ยที่ 1.0%
ทั้งนี้หากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อกระทบภาคบริการในประเทศ และส่งผลต่อภาคการผลิตที่อาจลดลงจากปัญหาคนงานติดเชื้อจนทำให้การส่งออกลดลงจากที่คาดแล้ว เศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบได้ถึง -1.1% ในปีนี้และอาจไม่ขยายตัวเลยในปีหน้า
โดยในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจะชะลอกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าจากการระบาดที่รุนแรง ผู้ติดเชื้อรายวันในระดับสูง ซึ่งน่าจะมีผลให้รัฐบาลคงมาตรการเข้มงวดในการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลากยาวไปตลอดไตรมาส 3/64 แม้จะสามารถเปิดกิจกรรมบางส่วนได้มากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64 แต่ภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวในประเทศยังคงไม่ฟื้นตัว เพราะความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวยังต่ำ
ขณะที่การกระจายวัคซีนยังไม่ครบ ไวรัสกลายพันธุ์มีผลให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง ประชาชนยังคงกังวลการไปแหล่งชุมชนและเลี่ยงการเดินทาง การบริโภคภาคเอกชนปีนี้จึงมีโอกาสติดลบเทียบปีก่อน แม้จะพอมีปัจจัยสนับสนุนการบริโภคบ้างคือรายได้ภาคเกษตรขยับตัวดีขึ้นจาก และกำลังซื้อของคนรายได้ระดับกลาง-บน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคการผลิตเพื่อส่งออกและมนุษย์เงินเดือนนอกกลุ่มท่องเที่ยวยังทรงตัว
สำหรับการส่งออกเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย จากกำลังซื้อตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป และจีนยังขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปยังขยายตัว แต่ต้องจับตาปัญหาการระบาดที่ทำให้คนงานติดเชื้อและมีการหยุดการผลิตชั่วคราว ซึ่งมีผลให้กำลังการผลิตลดลงและอาจทำให้การส่งออกชะลอตัวได้ อย่างไรก็ดี ปัญหานี้น่าจะได้รับการแก้ไขได้ด้วยการจำกัดจำนวนแรงงานในพื้นที่และการตรวจเชื้อคนงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการปิดโรงงานในอนาคต
นอกจากนี้ เอกชนยังพร้อมลงทุนด้านเครื่องจักร แต่อาจชะลอการลงทุนด้านการก่อสร้าง ซึ่งอาจเห็นการชะลอของภาคอสังหาริมทรัพย์ใหม่ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม แต่เอกชนน่าจะเน้นการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์แนวราบมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการคนทำงานที่บ้านที่ต้องการพื้นที่มากขึ้น
ส่วนของมาตรการทางการคลัง รัฐบาลสามารถใช้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ผ่านการใช้จ่ายและการลงทุนที่มากขึ้น เราเห็นว่าหากจะต้องกู้เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาทก็ทำได้ เพื่อประคองเศรษฐกิจด้วยการเยียวยาชดเชยผู้ขาดรายได้ และสร้างแรงจูงใจให้แรงงานอิสระอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อหากต้องไปหารายได้นอกบ้าน
แต่อย่างไรก็ตามการกู้รอบนี้อาจเสริมเศรษฐกิจระยะยาวได้สองทาง หนึ่ง คือการวางแผนให้ท้องถิ่นเลือกหาโครงการในการใช้จ่ายเงิน เพื่อสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ การกระตุ้นหรือลดค่าใช้จ่ายของคนผ่านมาตรการเติมเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์เมื่อการระบาดลดลง และสอง คือการใช้มาตรการทางการคลังร่วมกับมาตรการทางการเงินด้วยการที่คลังแบ่งเงินมาเพื่อช่วยแบกรับความเสี่ยงในกรณีสินเชื่อที่ปล่อยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจและครัวเรือนกลายเป็นหนี้เสีย ไม่เช่นนั้น มาตรการทางการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจก็ทำได้ช้า จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังสูง
ขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.25% สู่ระดับ 0.25% พร้อมลดเงินนำส่ง FIDF อีก 0.23% เพื่อลดภาระหนี้ และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจหรือคลายข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ
ด้านค่าเงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าได้อีกในระยะสั้นถึงระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 3/64 แต่เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีความชัดเจนในการส่งสัญญาณการถอน QE ขณะที่การควบคุมการระบาดในประเทศพร้อมๆกับการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสสี่ ที่สนับสนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติและแนวโน้มการท่องเที่ยวในปีหน้า เงินบาทจะมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้ราว 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐและน่าจะทยอยแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า