CV เคาะราคา “ไอพีโอ” 3.90 บ. เปิดจอง 25-27 ส.ค. ก่อนลุยเทรดต้น ก.ย.64
“โคลเวอร์ เพาเวอร์” หรือ CV เคาะขาย IPO ที่ 3.90 บ./หุ้น เปิดจองซื้อ 25-27 ส.ค. พร้อมเล็งเทรดต้น ก.ย.นี้ โดยมี บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจำหน่าย (Best Effort)
บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV กำหนดราคาขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 3.90 บาท โดยเสนอขายจำนวน 320 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เปิดจองซื้อในช่วงวันที่ 25-27 ส.ค.64 และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายได้ในต้นเดือน ก.ย.นี้ โดยมี บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจำหน่าย (Best Effort) พร้อมแต่งตั้ง บล.อีก 5 รายเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ CV ประกอบด้วย บล.เคทีบีเอสที, บล.ไอร่า, บล.คันทรี่ กรุ๊ป, บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ และ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
สำหรับการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) โดยราคาหุ้นละ 3.90 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) เท่ากับ 32.5 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิใน 4 ไตรมาสย้อนหลังของบริษัท (ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.63-30 มิ.ย.64) ซึ่งเท่ากับ 156.85 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้เท่ากับ 1,280 ล้านหุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาท (Fully Diluted Earnings per Share)
ด้านนายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ CV ที่หุ้นละ 3.90 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมสะท้อนพื้นฐานและศักยภาพการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเป็นผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรมแบบครบวงจร ทั้งการออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา ตลอดจนลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากว่า 15 ปี สร้างโอกาสเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต
นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CV กล่าวว่า การระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดยวางเป้าหมาย 3 ปี ข้างหน้า (64-66) จะขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะมุ่งเน้นลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผ่านการพัฒนาโครงการเองหรือเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตร รวมถึงเข้าซื้อกิจการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย
โดยปัจจุบัน CV มีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ และมีปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญารวม 23.6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการและโรงไฟฟ้าขยะ 1 โครงการ ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงค่อนข้างสูงในระยะยาว จากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ประกอบกับการขยายโอกาสเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศที่มีศักยภาพ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2 โครงการ 39.8 เมกะวัตต์ ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีกำลังการผลิตติดตั้ง จำนวนรวม 85 เมกะวัตต์ภายในปี 64 และ 180 เมกะวัตต์ภายในปี 66
นอกจากนี้ บริษัทยังขยายการลงทุนควบคู่กับงานด้านวิศวกรรม (Valued EPC) แบบครบวงจรในกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ ชีวมวล ขยะ และก๊าซชีวภาพรวมถึงพลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Supporting) เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในธุรกิจโรงไฟฟ้า ผ่านการเข้าประมูลเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศตามแผน AEDP 2018 ส่งเสริมการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้น
โดยใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับงาน EPC จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศ และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพิจารณาถึงโอกาสทางธุรกิจ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับ และพิจารณาจากฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นประกอบการพิจารณาเข้าลงทุนในแต่ละโครงการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
“แผนการเติบโตผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งลงทุนพัฒนาโครงการ และ/หรือเข้าลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ ลงทุนในธุรกิจสนับสนุนด้านเชื้อเพลิงซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงและต่อยอดซึ่งกันและกัน ประกอบกับสิ่งที่บริษัทฯ ได้ลงทุนมาก่อนหน้า เริ่มรับรู้แบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มปีจากโรงไฟฟ้า CPX, RTB ซึ่ง COD แล้วตั้งแต่ปี 63 รวมถึงโครงการโรงคัดแยกขยะ จ.พิจิตร ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ และสร้างรายได้จากการขายวัตถุดิบให้โรงไฟฟ้าอื่น ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปีนี้ รวมถึงการลงทุนในกิจการด้านงานวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มวิศวกรรมให้กว้างขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้ที่เติบโตอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง” นายเศรษฐศิริ กล่าว
นายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ของ CV ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงานและฐานะการเงินเพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนต่างๆ จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านงานวิศวกรรม ที่ส่งมอบผลงานให้บริการด้านวิศวกรรมออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาหลายโครงการ ทำให้ CV มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง การออกแบบ การก่อสร้าง การเดินเครื่องจักร และการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ซึ่งจุดแข็งดังกล่าว ทำให้ CV มีการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านการควบคุมต้นทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้า ในการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีผลตอบแทนจากการลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้
นอกจากนี้ แหล่งที่มาของรายได้ CV ถือว่ามาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีความมั่นคง จากระยะเวลาทำสัญญาระยะยาว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา CV ได้ศึกษาโอกาสเข้าลงทุนซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงการเข้าลงทุนพัฒนาโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดผลการดำเนินงานของ CV และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบัน CV มีทุนจดทะเบียน 640,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,280,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 480,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 960,000,000 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 320,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและคืนเงินกู้ยืมกรรมการของกลุ่มบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท