RATCH ทุ่ม 2.5 หมื่นลบ. ซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินอินโดฯ 2,045 MW

บอร์ด RATCH ไฟเขียวทุ่ม 2.5 หมื่นลบ. ให้ "อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม เข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าถ่านหินอินโดฯ ขนาดกำลังการผลิต  2,045 MW คาดแล้วเสร็จเดือนมี.ค.65


บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม เข้าซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิต 2,045 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ Paiton Power Generation Complex บนเกาะชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย อายุโครงการ 21 ปีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมมูลค่ารวมทั้งหมดเท่ากับ 809.60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 25,421.68 ล้านบาท ใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินทุนหมุนเวียน

– RHIS จะซื้อหุ้น 45.515% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วของ PT Paiton Energy (PE) จาก Mitsui & Co Ltd. มูลค่า 707.20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 22,206.29 ล้านบาท

– RHIS จะซื้อหุ้น 45.515% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วของ Minejesa Capital B.V. (MCBV) จาก Paiton Power Financing B.V. มูลค่า 53.50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 1,679.92 ล้านบาท

– RHIS จะซื้อหุ้น 65% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วของ IPM Asia Pte.Ltd (IPM) จาก Paiton Power Financing B.V.มูลค่า 48.90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 1,535.47 ล้านบาท

ทั้งนี้ภายหลังที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ 1/2564 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21 ต.ค.64 โดยบริษัทคาดว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 65

โดย ณ เดือน มิ.ย.64 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัท มีกำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,290.31 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 7,052.94 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีก 1,237.37 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบางแห่งของกลุ่มบริษัทจะทยอยหมดอายุลงในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ ดังนั้น บริษัทจึงกำหนดเป้าหมายที่จะแสวงหาแนวทางขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อรักษากำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 68 ชดเชยรายได้และผลตอบแทนในส่วนที่ขาดหายไป

Back to top button