“IFC” ปล่อยสินเชื่อ 3 พันลบ. หนุน TIDLOR ช่วยประคองธุรกิจ “MSMEs” ฟื้นตัวเร็ว
“IFC” ปล่อยสินเชื่อ 3 พันลบ. ให้ TIDLOR เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เข้าถึงแหล่งเงินทุน ประคองธุรกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารรายแรกในประเทศไทย ที่ได้รับสินเชื่อจาก IFC เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ด้วยการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ การเสริมสร้างการจ้างงาน และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน
โดยการสนับสนุนทางการเงินของ IFC ในรูปแบบของสินเชื่อ มีจำนวนสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ซึ่งจะช่วยให้ TIDLOR สามารถเพิ่มปริมาณการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในประเทศได้ โดย IFC จะช่วยให้ TIDLOR สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายจากนักลงทุนต่างประเทศ และสนับสนุนบริษัทในการยกระดับกรอบการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของตนเอง
ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมและ รายย่อย (MSMEs) คิดเป็นร้อยละ 86 ของแรงงานในประเทศไทย และคิดเป็นร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก่อนเกิดโรคโควิด-19 ธุรกิจเหล่านี้ยังขาดการเข้าถึงทางการเงินประมาณ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 10.3% ของ GDP ของประเทศ และต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ การยกเลิกคำสั่งซื้อ ยอดขายที่ลดลง ห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก และการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ของธนาคารยังมีความเข้มงวดขึ้น จากอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่สูงขึ้น
โดย นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การให้สินเชื่อของ IFC จะช่วยให้ TIDLOR ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนมากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลและการใช้ข้อมูลมากขึ้นในการให้สินเชื่อ
สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFI) ส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็ก คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 ของสินทรัพย์รวมของระบบการเงินของประเทศไทย สาเหตุหลักนั้นมาจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเหล่านั้น ไม่สามารถรับเงินฝาก ขาดแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อแก่แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ไม่มีสินทรัพย์ถาวรมาค้ำประกันและถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง
ด้าน Jane Xu ผู้จัดการ IFC ประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ IFC ในประเทศไทย การให้สินเชื่อของ IFC จะช่วยเพิ่มบริการทางการเงินที่เข้าถึงได้ สะดวก และเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาที่ยั่งยืน
“การสนับสนุนของ IFC จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพ ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อการแข่งขันของคู่แข่งและเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทย” Xu กล่าวเสริม
ทั้งนี้ IFC เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและการให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภาคเอกชนของประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2564 IFC ได้มีการลงทุนเป็นจำนวนสูงถึง 875 ล้านเหรียญสหรัฐ