ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง HENG ขายไอพีโอ 800.84 ล้านหุ้น จ่อเทรด SET เสริมฐานทุนขยายธุรกิจ
ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง “เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล” หรือ HENG เสนอขายไอพีโอ 800.84 ล้านหุ้น จ่อเทรด SET ลุยเสริมฐานทุนขยายธุรกิจ-เพิ่มสาขาเป็น 830 สาขาภายในปี 66 มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์และโมบาย แอปพลิเคชัน
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติให้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 800,837,300 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 21% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
โดย HENG มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำมาเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงรองรับแผนขยายสาขาและการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติม ส่วนที่เหลือจะนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระเงินกู้แก่สถาบันการเงิน
ด้าน นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมรุกขยายธุรกิจสินเชื่อภายใต้วิสัยทัศน์ผู้ให้บริการทางการเงินที่นิยมชมชอบของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุมทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ได้แก่ (1) สินเชื่อเช่าซื้อ (2) สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (3) สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน (4) สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (5) สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังประกอบธุรกิจการให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต ผ่านเครือข่ายสาขาให้แก่บริษัทประกันชั้นนำ 6 บริษัท ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยจักรยานยนต์ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต เป็นต้น
โดยบริษัทมีจุดแข็งด้านทีมผู้บริหารที่มาจาก 4 กลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อรายใหญ่ในภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มทวีเฮง กลุ่มพัฒนสิน กลุ่มมิตรเอื้ออารีย์ และกลุ่มสินปราณี ที่เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อมากว่า 20 ปี และมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในภาคเหนือ พร้อมทีมพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นซึ่งมีความเข้าใจลูกค้า สามารถสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้แนวคิด ใคร ๆ ก็กู้ได้ ด้วยหลักความเข้าใจ เป็นธรรม โปร่งใส รวดเร็ว และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายพันธมิตรผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองและนายหน้ากว่า 5,100 ราย ช่วยนำเสนอผลิตภัณฑ์และแนะนำลูกค้าให้แก่สาขาในแต่ละพื้นที่กระจายอยู่ 51 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ถือเป็นแต้มต่อด้านการให้บริการสินเชื่อที่มีหลักประกันของบริษัทฯ รวมถึงยังสามารถนำเสนอบริการนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างครบวงจรอีกด้วย
อีกทั้งบริษัทมีแผนงานมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้หลากหลายและขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับพฤติกรรมลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น ด้วยการขยายสาขาไปยังภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ HENG มีรากฐานธุรกิจที่เข้มแข็งในภาคเหนือ
โดยมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 830 สาขา ภายในปี 66 จาก ณ สิ้นไตรมาส 2/64 ที่มีจำนวน 451 สาขา และมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์และโมบาย แอปพลิเคชัน ควบคู่พัฒนามาตรฐานบุคลากร เพื่อยกระดับขีดความสามารถการให้บริการ รองรับแผนขยายพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มเป็น 14,800 ล้านบาท
ส่วน นายธีรวัฒน์ ธวัลรัตน์โภคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบัญชีและการเงิน HENG กล่าวว่า ปี 61-63 บริษัทขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง จาก 7,349 ล้านบาท เพิ่มเป็น 7,534 ล้านบาท และ 7,733 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 2.6% ต่อปี มีรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,239 ล้านบาท 1,557 ล้านบาทและ 1,450 ล้านบาท โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยหลักมาจากสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นสัดส่วนสำคัญคือสินเชื่อเช่าซื้อ ทำรายได้อยู่ที่ 64%, 76.7% และ 65% ของรายได้ทั้งหมด สะท้อนถึงเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ควบคู่กับความตั้งใจในการบริหารต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 61-63 อยู่ที่ 151.8 ล้านบาท 188.7 ล้านบาท และ 318.1 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 44.6% ต่อปี
สำหรับผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทฯ มีพอร์ตสินเชื่อรวม 7,802 ล้านบาท โดยมีรายได้จากดอกเบี้ย 686.1 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันยังคงเป็นพอร์ตหลัก คิดเป็นสัดส่วน 81.4% ของรายได้รวม และสินเชื่อเช่าซื้อยังคงเป็นรายได้หลักเช่นเดิม คิดเป็น 52.9% ทั้งนี้ได้มีการตั้งสำรองลูกหนี้สินเชื่อส่วนเพิ่ม (Management Overlay) เพื่อรองรับความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากภาวะโควิท-19 อย่างไรก็ดีบริษัทฯ ยังมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสนี้อยู่ที่ 109.1 ล้านบาท