STI เดินหน้าประมูล “เมกะโปรเจ็กต์” ดันแบ็กล็อกทะลุ 4.1 พันลบ.
“สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์” หรือ STI มองภาพรวมอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว แย้มปัจจุบันอยู่ระหว่างประมูลเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ เพื่อผลักดัน Backlog ให้ทะลุ 4,100 ลบ. เป็นจุดแข็งในการสนับสนุนผลการดำเนินงานในปีนี้ และต่อเนื่องไปอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า
นายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ STI เปิดเผยว่า แม้ภายใต้วิกฤตบริษัทฯ มุ่งมั่นบริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนงานโครงการใหญ่ในมือให้เดินหน้าและทยอยส่งมอบตามแผน ส่งผลให้ผลประกอบการครึ่งปีแรกยังคงความแข็งแกร่งทั้งรายได้และกำไร โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีจุดเด่นจากงานในมือที่อยู่ในระดับสูงกว่า 4,100 ล้านบาท แบ่งเป็นงานภาครัฐบาลสัดส่วนราว 74% และเอกชนสัดส่วน 26% ทำให้มีความมั่นคงในการทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ และต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมจัดทัพเดินหน้าประมูลงานใหม่ โดยเฉพาะงานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐบาลและเอกชน ที่จะเริ่มฟื้นตัวจากการเร่งลงทุนหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มในสถานการณ์โควิด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยคาดว่าด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม จะสนับสนุนให้กลุ่ม STI มีโอกาสได้รับงานเพิ่มขึ้น
ขณะที่ บริษัท เอเชียน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) บริษัทในกลุ่ม เข้ามาสนับสนุนโอกาสในการเข้าประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานที่ AEC เชี่ยวชาญ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญานการประมูลงานเมกะโปรเจ็กต์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสให้กลุ่มบริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมในความสำเร็จของโครงการเหล่านี้
“ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้าง นับเป็นหนึ่งในแผนเร่งด่วนของภาครัฐที่มีโครงการบิ๊กโปรเจ็กต์ออกมาหลากหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จึงมองว่า ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีการประมูลงานใหม่ๆ ทยอยออกมาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังมีงานโครงการที่กระจายอยู่ในหลายภูมิภาคของประเทศไทย
รวมทั้ง การเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการประสานงานร่วมกันในทุกส่วนงานอย่างดีเยี่ยม เพื่อสนับสนุนแผนการก่อสร้างให้เป็นไปตามกำหนด ตลอดจน การดูแลสวัสดิภาพของพนักงานในองค์กร และสนับสนุนให้บุคลากรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจนเกือบครบทุกคน เพื่อสร้างความปลอดภัยและความพร้อมในการทำงานที่จะเร่งฟื้นตัวต่อไปในอนาคต” นายสมเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น กลุ่มบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การบริหารงาน การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ โดยมีรายได้จากการให้บริการ 867 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 71 ล้านบาท เนื่องจาก รายได้จากธุรกิจบริหารและควบคุมงานก่อสร้างเติบโตขึ้น จากภาพรวมงานโครงการหลักของกลุ่มบริษัทยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้สถานการณ์โควิดส่งผลให้การส่งมอบในบางโครงการชะลอจากแผน
อาทิ โครงการ One Bangkok โครงการปรับปรุงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โครงการอาคารชุดพักอาศัยหลายโครงการ โครงการอาคารสำนักงาน และโครงการประเภทอาคารอเนกประสงค์ เป็นต้น ประกอบกับ กลุ่มบริษัทได้รับงานใหม่ในโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ ที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสภาวิศวกร, ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่, สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ของ ธนาคาร ยูโอบี (ไทย), โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และในอีกหลายโครงการ รวมถึง การส่งมอบงานในมือได้ต่อเนื่อง