JMT เดินเกมรุกซื้อหนี้เพิ่ม ตั้งเป้า 5 ปีก้าวขึ้นเบอร์หนึ่ง AMC
JMT ฉายภาพครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง หลังขยายเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่ม-ตัดต้นทุนการเงินกองหนี้กองใหญ่ ตั้งเป้าขึ้นเบอร์หนึ่งธุรกิจ AMC ภายใน 5 ปี
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยข้อมูลภาพรวมของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 3 ก.ย.2564 ว่า บริษัทเตรียมพิจารณาเพิ่มวงเงินลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปีนี้ไปถึงระดับ 7,000 ล้านบาท จากเดิมวางไว้ที่ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ JMT เติบโตต่อเนื่องตลอด 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปีที่ผ่านมา JMT มีกำไรสุทธิเติบโตมากกว่า 11 เท่า จากการขยายงบลงทุนต่อเนื่อง และสะท้อนความเชื่อมั่นในอนาคต หลังจากมีแผนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO)
อนึ่ง JMT จะเพิ่มทุนจดทะเบียนด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 311,577,422 หุ้น จัดสรรขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 240,963,856 หุ้น อัตราส่วน 4.558 – 5.042 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคาหุ้นละ 41.50 บาท
นอกจากนี้ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้มีการเติบโตที่ชัดเจน โดยทางบริษัทมีการขยายเงินลงทุนต่อเนื่องเพื่อซื้อหนี้เข้ามาบริหาร โดยการเพิ่มวงเงินลงทุนซื้อหนี้ในปีนี้เพื่อรองรับโอกาสหนี้ในระบบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเงินลงทุนที่เกิดขึ้นจะสอดคล้องกับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะออกมาในช่วงไตรมาส 4/2564 นี้ด้วย
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเป็นปีที่ดีเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากทางบริษัทไม่มีภาระในการตัดต้นทุนการเงินของกองหนี้กองใหญ่ เพราฉะนั้นจึงทำให้ทางบริษัทสามารถบุ๊กรายได้ได้เต็มที่มากขึ้น ประกอบกับช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีหนี้ขายต่อเนื่องและเป็นช่วงที่บริษัทสามารถเริ่มรับรู้รายได้ของส่วนของกองหนี้ที่ได้เริ่มซื้อเข้ามาในปีนี้
ส่วนในปี 2565 บริษัทได้ตั้งงบลงทุนซื้อหนี้เพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท และในปี 2566 ที่ 20,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีจากนี้จะเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าจากปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้บริษัทก้าวเข้าสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีพอร์ตใหญ่ที่สุดในประเทศได้ภายใน 5 ปี
โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 บริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้รวมประมาณ 217,557 ล้านบาท เป็นผู้นำพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพประเภท Unsecure Loan ที่ใหญ่สุดในประเทศ โดยเป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่ตัดต้นทุนครบแล้ว 49,513 ล้านบาท และครึ่งปีแรกใช้งบลงทุนซื้อหนี้ไปแล้ว 3,336 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทแบ่งได้เป็น รายได้จากการจัดซื้อและบริหารหนี้ (Debt Acquisition and Management) 84% รายได้จากการรับจ้างบริหารหนี้ (Debt Collection Business) 10% และรายได้จากธุรกิจประกันภัย (Insurance and Insurance Broker) อีก 6%