มติรัฐสภา 472 เสียง เห็นชอบร่างแก้ไข รธน.วาระ 3 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ-ปรับสัดส่วนส.ส.ใหม่

รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างแก้ไข รธน. วาระ 3 เรื่อง ระบบเลือกตั้ง โดยแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ปรับสัดส่วน ส.ส.เขต- บัญชีรายชื่อใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 472 ต่อ 33 งดออกเสียง 187


ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ในวาระ 3 โดยมีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบ 472 คน เป็น ส.ส.จำนวน 323 คน และ ส.ว.จำนวน 149 คน ไม่เห็นชอบ 33 คน เป็น ส.ส.จำนวน 23 คน และ ส.ว.จำนวน 10 คน และงดออกเสียง 187 คน เป็น ส.ส.จำนวน 121 คน และ ส.ว.จำนวน 66 คน

ทั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ทั้งหมด โดยมีสัดส่วนของ ส.ว.ลงมติเห็นชอบเกิน 84 เสียง หรือเกินจำนวน 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างออกเสียงลงมติเห็นชอบ

ส่วนพรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคขนาดเล็กส่วนใหญ่ลงมติงดออกเสียง ขณะที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ลงมติใดๆ ส่วน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว.ที่เป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยหลังจากนี้ต้องพักรอไว้ 15 วันก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ทั้งนี้การประชุมรัฐสภาได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 9.20 น. ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้พิจารณาลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ในวาระ 3 ด้วยการลงมติแบบขานรายชื่อตามตัวอักษร และลงมติเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 11.34 น.

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ทั้งหมดหรือ 365 คน และสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติเห็นชอบจะต้องมีสัดส่วนของ ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 หรือจำนวน 84 คน และ ส.ส.จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านอีก 20% หรือจำนวน 49 คน โดยปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่อยู่ 730 คน แยกเป็น ส.ส.จำนวน 480 คน และ ส.ว.จำนวน 250 ราย

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกอบด้วย การแก้ไข 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้ง หรือประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่

ในกรณีมีเหตุใด ๆ ที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึง 100 คน ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

ส่วนมาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น

โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยกล่าวคือ มาตรา 83 เดิมกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน เปลี่ยนเป็น ให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน

ส่วนมาตรา 91 เดิมใช้วิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยนำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หารด้วย 500 คน แล้วนำผลลัพธ์ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกเขต เพื่อค้นหา “จำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมี” แล้วลบด้วยจำนวน ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง จะได้ผลลัพธ์ คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

โดยกล่าวคือ การปรับแก้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จำนวน 500 คน จากปัจจุบันใช้ ส.ส.แบบเขต 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ในรัฐธรรมนูญปี 60 ให้กลับไปเป็น มีจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงจากเดิมใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่สามารถเลือก ส.ส.เขตได้ 1 ใบ และเลือกพรรคได้ 1 ใบ และแก้วิธีคำนวณระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่

Back to top button