“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ! ตามดาวโจนส์ร่วง วิตกเงินเฟ้อสหรัฐ- หวั่นเฟดลด QE เร็วกว่าคาด
“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ! ตามดาวโจนส์ร่วงต่อเนื่อง นลท.วิตกเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ อีกทั้งกังวลเฟดจะลด QEและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบในเช้าวันนี้ ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ซึ่งเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.2564) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ และกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
โดยดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,699.25 จุด ลดลง 3.86 จุด หรือ -0.10%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 30,372.02 จุด ลดลง 9.82 จุด หรือ -0.032% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,885.30 จุด ลดลง 320.61 จุด หรือ -1.22%
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.70% ในเดือนส.ค. 2564 เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.60% เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.30% ในเดือนส.ค.2564 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 11 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย. 2553 หลังจากดีดตัวขึ้น 7.80% ในเดือนก.ค. 2564
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.30% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 6.30% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนส.ค. 2557
นอกจากนี้นักลงทุนยังซึมซับความเห็นของนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ที่กล่าวในวันศุกร์ว่า เงินเฟ้อในสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปีนี้ แต่จะปรับตัวลงในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มมีความเสี่ยงในช่วงขาขึ้น โดยนางเมสเตอร์ได้กล่าวสนับสนุนให้เฟดเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ แม้สหรัฐมีการจ้างงานที่อ่อนแอในเดือนส.ค.ก็ตาม
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค.ของญี่ปุ่น, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนส.ค.ของเกาหลีใต้,ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนส.ค.จากเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) ของออสเตรเลีย รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือนส.ค. 2564 อีกหลายรายการ