“ศาลอาญา” นัดไต่สวนคดีพิพาท BTS – รฟม. ปมทุจริตสายสีส้ม 25 ต.ค.นี้
BTS เผยศาลอาญาคดีทุจริตศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดไต่สวนคดีพิพาทปมร้องรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกรอบ 25 ต.ค.64
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) บริษัทในกลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้กำหนดนัดพร้อมคู่ความในคดีคือ บีทีเอส และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
รวมทั้งผู้ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายหลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาเพื่อไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่ บีทีเอสได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ กรณีที่ผู้ว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ โดยศาลได้สอบถามคู่ความแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนไปพิจารณาพยานหลักฐานกันอีกครั้ง ในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. เนื่องจากทางโจทก์ และจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารเพิ่มเติม
“การที่เรานำคดีฟ้องเข้าสู่ศาลนี้ ได้ปรากฏพยานเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำมาพิสูจน์ความจริงและความถูกต้องในสิ่งที่เรายืนยัน ซึ่งเท่าที่เราได้รับเอกสารในสำนวนขณะนี้เราพบว่ามีเอกสารหลายรายการที่เราพยายามขอเพื่อมายืนยันความเข้าใจของเราว่า เราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ แต่ก็ไม่เคยได้มาวันนี้เอกสารบางอย่างนั้นมาปรากฏในชั้นศาลแล้ว ซึ่งตรงกับความเข้าใจของเราจึงยิ่งทำให้เรามีความเชื่อมั่นในการเดินหน้าต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป”
สำหรับประเด็นที่ผู้ว่า รฟม.ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา โดยสรุปว่าคดีความในศาลปกครองเสร็จสิ้นหมดแล้ว คงเหลือคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพียงคดีเดียว และจะเดินหน้าการประมูลโครงการนี้ โดยจะสามารถออกทีโออาร์ใหม่ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องขอทำความเข้าใจไปถึงคณะกรรมการคัดเลือกทุกท่าน ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และอาจจะต้องนำเรียนไปยังรัฐบาลว่า บีทีเอสมีคดีความกับรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก 3 คดี แยกเป็นคดีปกครอง 2 คดี และคดีอาญาทุจริต 1 คดี
นายสุรพงษ์ กล่าวยืนยันว่า ทั้ง 3 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ได้เสร็จสิ้นไปตามที่ผู้ว่า รฟม.แถลง สำหรับคดีปกครองที่บีทีเอสฟ้อง 2 เรื่อง เรื่องแรกบีทีเอสฟ้องว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกภายหลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและเปิดจำหน่ายซองเอกสารประมูลไปแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบและก่อให้เกิดความเสียหายในทางละเมิดต่อบีทีเอส ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยกเลิกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว และในระหว่างการพิจารณาคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับไม่ให้ รฟม. นำหลักเกณฑ์ใหม่มาใช้บังคับและขอเรียกร้องค่าเสียหายในคดีละเมิด
โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางเห็นว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ไม่ให้รฟม.ใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่แก้ไขมาคัดเลือก และรฟม.ได้อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด แต่ในระหว่างรอฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด รฟม.โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้ออกคำสั่งยกเลิกประกาศเชิญชวนประมูลโครงการนี้ และมาร้องต่อศาลขอให้ศาลจำหน่ายคดี โดยอ้างว่าได้ยกเลิกการประมูลในครั้งนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะพิจารณาว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วได้อนุญาตให้จำหน่ายคดีที่บีทีเอสฟ้อง เรื่องการแก้ไขหลักเกณฑ์โดยไม่ชอบ แต่สำหรับเรื่องที่บีทีเอสฟ้องเรียกค่าเสียหายในเรื่องรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกกระทำละเมิดนั้น มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ยังคงต้องพิจารณากันต่อไป
ส่วนคดีที่สอง เป็นคดีที่บีทีเอสฟ้องว่า มติคณะกรรมการคัดเลือกและประกาศรฟม. ที่ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนไม่ชอบตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือยกเลิกมติ และประกาศดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกและรฟม. กระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาท ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งยกคำขอที่บีทีเอสขอในเรื่องห้าม มิให้กระทำการใด ๆ ในเรื่องการคัดเลือกเอกชน ส่วนเรื่องการยกเลิกประกาศเชิญชวนไม่ชอบยังอยู่ในการพิจารณา
โดยสรุปแล้ว คดีความที่บีทีเอสฟ้องรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 3 เรื่อง ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของทั้งศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดังนั้นการแถลงข่าวของผู้ว่า รฟม.ข้างต้น จึงไม่ตรงกับความจริง
ส่วนประเด็นที่จะเดินหน้าโครงการต่อ ทางบีทีเอสไม่ขัดข้องและเคารพในคำตัดสินของศาล แต่รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย บริษัทฯ พร้อมเข้าร่วมแข่งขันในกฎกติกา และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม แต่หากกติกาที่จะออกมาใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการโครงการที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เคยนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนมีมติเห็นชอบ และคณะกรรมการคัดเลือกเอาหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน จนมาออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนแล้ว บริษัทฯ เห็นว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ล้วนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดปัญหาการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน มาจนถึงวันนี้เวลาผ่านมาปีเศษแล้ว เรื่องนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ งบประมาณเป็นแสนล้าน หากไม่เป็นประเด็นปัญหาซับซ้อน คงไม่ถูกปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานเช่นนี้ ทางบริษัทฯ อยากให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงปล่อยให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ คงไม่เกิดประโยชน์