ครม.ปรับเกณฑ์สินเชื่อ “SME Bank” ยืดเวลากู้นาน 10 ปี
ครม.เห็นชอบ ปรับหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนของ "SME Bank" ขยายเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี จากเดิมกำหนดระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 (มาตรการด้านการเงิน) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank เป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก สำหรับหลักเกณฑ์ที่ขอปรับปรุง ได้แก่
1.ปรับระยะเวลากู้ยืมเป็นสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 2 ปี จากเดิมกำหนดระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
2.อัตราดอกเบี้ยคงเดิม แต่ปรับระยะเวลาให้เป็นไปตามที่ขยายถึง 10 ปี กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR -1.875 ต่อปี, ปีที่ 4 – 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR -3.875 ต่อปี ปีที่ 4 – 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด
3.หลักประกัน ปรับให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน หรือใช้หลักประกันตามที่ธนาคารกำหนดได้
“เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น ธพว. จึงขอปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และผ่อนชำระหนี้ได้อย่างสอดคล้องกับกระแสรายได้ของธุรกิจ” นางสาวรัชดา กล่าว
โดยโครงการสินเชื่อมีกรอบวงเงินกู้รวม 50,000 ล้านบาท ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2564 ธพว.ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 25,566 ราย รวมวงเงิน 43,110 ล้านบาท คิดเป็น 86.22% ของวงเงินสินเชื่อรวมโครงการ ทำให้มีวงเงินโครงการคงเหลือจำนวน 6,889 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 4,100 ราย ช่วยรักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 20,500 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 31,551 ล้านบาท