“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ! ลงตามตลาดหุ้นจีน จับตาเอเวอร์แกรนด์ชำระหนี้

“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ! ลงตามทิศทางตลาดหุ้นจีนหลังกลับมาเปิดซื้อขายในวันนี้ โดยมีความกังวล “เอเวอร์แกรนด์” กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดในก้อนแรก 83.50 ล้านดอลลาร์ วันที่ 23 ก.ย. 2564


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้านี้เคลื่อนไหวในแดนลบ ขณะที่นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นจีนซึ่งกลับมาเปิดทำการซื้อขายในวันนี้หลังวันหยุดเนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ที่กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

โดยดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 29,744.73 จุด ลดลง 94.98 จุด หรือ -0.32% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,563.21 จุด ลดลง 50.76 จุด หรือ -1.40%  

ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกงปิดทำการวันนี้ (22 ก.ย.) เนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์

ทั้งนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยเงินกู้ต่อธนาคารเจ้าหนี้อย่างน้อย 2 แห่งเมื่อวานนี้

โดยรายงานระบุว่า ธนาคารทั้ง 2 แห่งได้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เอเวอร์แกรนด์จะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเงินกู้ได้ หลังจากที่กระทรวงการเคหะของจีนแจ้งเตือนว่า เอเวอร์แกรนด์จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ธนาคารดังกล่าวจะประกาศว่าเอเวอร์แกรนด์ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่

สำหรับรายงานข่าวดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่เอเวอร์แกรนด์มีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัท 2 งวดในเดือนนี้ โดยมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 83.50 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,780 ล้านบาท ในวันที่ 23 ก.ย.ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค. 2565 และมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 47.50 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,580 ล้านบาท ในวันที่ 29 ก.ย.ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค. 2567

อย่างไรก็ตามหากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเมื่อถึงวันกำหนดชำระดังกล่าว ทางบริษัทจะมีเวลาอีก 30 วันเพื่อทำการชำระ และหากบริษัทยังคงไม่สามารถชำระดอกเบี้ยก็จะถือว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และคาดว่านักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์จะได้รับส่วนแบ่งการชำระคืนในสัดส่วนต่ำ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย

 

 

Back to top button