“ซีพีเอฟ จับมือ SOS-GEPP” ส่งอาหารปลอดภัย 12,000 มื้อ ช่วยกลุ่มเปราะบาง

 “ซีพีเอฟ จับมือ SOS-GEPP” ส่งอาหารปลอดภัย 12,000 มื้อ ช่วยกลุ่มเปราะบางวิกฤตโควิด-ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม เก็บบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคไปรีไซเคิล


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือ มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และบริษัท เก็บสะอาด จำกัด (GEPP)  ส่งอาหารในโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เปลี่ยนอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) เป็นเมนูพร้อมทานอร่อย สะอาด ปลอดภัยกว่า 12,000 มื้อ สร้างการเข้าถึงอาหารให้กับผู้ได้รับกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เด็ก ผู้ยากไร้ และกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการบริโภค เก็บกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ทั้ง SOS และ GEPP เป็นพันธมิตรที่ดีของซีพีเอฟ ในการดำเนินโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ต่างๆ ได้เข้าถึงอาหารคุณภาพ ปลอดภัย อย่างเพียงพอ และร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดปัญหาขยะพลาสติก  โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  สามารถส่งมอบอาหารให้กับมูลนิธิเด็ก ผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง ได้เข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ รวม 12,000 มื้อ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 มื้อ (ตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน)  ช่วยลดอาหารส่วนเกินได้มากกว่า 2,800 กิโลกรัม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 6,014 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โครงการดังกล่าว เป็นความมุ่งมั่นร่วมกันดำเนินการโดยยึดหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  โดยในส่วนของมูลนิธิ SOS ทำหน้าที่นำอาหารส่วนเกินจากซีพีเอฟมาจัดการและปรุงใหม่เป็นอาหารพร้อมทานส่งมอบถึงมือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และ บริษัท เก็บสะอาด  เป็นผู้เก็บกลับบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังบริโภค (Take back system) นำเข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิล เพื่อช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชน  ซึ่งเป็นการจัดการแบบครบวงจร  พร้อมกันนี้  ซีพีเอฟ ได้นำไข่ไก่สด 2,000 ฟอง ส่งมอบให้มูลนิธิ SOS เพื่อนำไปปรุงอาหารให้ประชาชนในชุมชน และมอบชุด PPE ให้แก่ทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อเป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในการปฏิบัติงาน

“โครงการ  Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก  เป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟและพันธมิตรเพื่อช่วยเหลือชุมชนในภาวะวิกฤตและตอบโจทย์การขับเคลื่อนความยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  จัดการอาหารส่วนเกิน และเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน หลังจากกิจกรรมการบริจาคอาหาร ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก ที่มีการดำเนินการแบบครบวงจรเป็นครั้งแรกของไทย” นายวุฒิชัย กล่าว

นางสาวธนาภรณ์ อิสรานุกูล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิ SOS กล่าวว่า ความร่วมมือของซีพีเอฟ และ GEPP  สนับสนุนให้การดำเนินโครงการของมูลนิธิ SOS บรรลุเป้าหมายการเชื่อมต่อการส่งอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) ซึ่งมีคุณภาพดี มาปรุงสุก หรือแจกจ่ายให้ชุมชนกลุ่มเปราะบาง  ศูนย์พักคอย ชุมชนที่กักตัวรวมทั้งทีมอาสาชุมชนในพื้นที่ความเสี่ยงสูง เพื่อได้บริโภคอาหารปลอดภัย สะอาด มีคุณค่าโภชนาการอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในชุมชนจากวิกฤตโควิด-19  และปลูกฝังชุมชนมีส่วนร่วมในการเก็บบรรจุภัณฑ์อาหารคืน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร และจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อขจัดวงจรขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ทิ้งลงสู่หลุมฝังกลบ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายโดม บุญญานุรักษ์  ซีเอ็มโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เก็บสะอาด จำกัด กล่าวว่า GEPP เข้ามาเป็นพันธมิตรในโครงการ ฯ  สนับสนุนการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการคัดแยกขยะพลาสติกให้มีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องและถูกวิธีรวมไปถึงการติดตามข้อมูลการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการบริโภค เพื่อคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน

โครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” มีเป้าหมายลดปริมาณอาหารส่วนเกินและขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill)  ภายในปี 2573  ภายใต้ กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ความมุ่งมั่น Waste to Value สร้างคุณค่าปราศจากขยะ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในช่วง 10 ปีข้างหน้าของซีพีเอฟ (ปี 2564-2573) สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) ที่ต้องการลดจำนวนขยะอาหารทั่วโลกกว่าครึ่งภายในปี 2573

Back to top button