KWM ยันรายได้ไตรมาส 3 โตกว่า 50% รับอุตสาฯเกษตรดีดตัว หนุนดีมานด์เพิ่ม
KWM ส่งซิกรายได้ไตรมาส 3 โตกว่า 50% รับภาพรวมอุตสาหกรรมเกษตรโตดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น หนุนดีมานด์เครื่องจักรทางการเกษตรเพิ่ม คาดไตรมาส 4 โตต่อเนื่อง
นางสาวติยาภรณ์ วนโกสุม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ผู้นำในการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและมีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล และผู้นำด้านการผลิตเครื่องสกัดระบบ Supercritical CO2 Extraction กัญชง-กัญชา และสมุนไพรไทย สัญชาติไทยรายแรกของประเทศ เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ KWM ในช่วงครึ่งปีหลังยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลจากแรงขับเคลื่อนในการใช้สินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยจะเห็นจากดีมานด์การใช้กลุ่มเครื่องจักร และอุปกรณ์เกษตร ที่มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลให้บริษัทฯต้องใช้กำลังการผลิตสูงถึง 80% จากก่อนหน้านี้ใช้กำลังผลิตอยู่ราว 50% และจากอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการเกษตรทั้งการเพาะปลูก รวมถึงราคาสินค้าที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรขยายการผลิตเพิ่มขึ้นตาม ทำให้บริษัทฯได้รับอานิสงส์เชิงบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้จึงส่งผลให้บริษัทฯคาดการณ์รายได้ไตรมาส 3/2564 มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของบริษัทฯ แต่หากพิจารณาจากยอดขาย ในช่วง 2 เดือนที่ผ่าน ยอมรับว่ามีอัตราการการเติบโตของยอดขายที่โดดเด่น ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4/2564 ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวทำให้บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ปี 2564 เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีรายได้ 355.06 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทฯได้วางงบลงทุนไว้ 50 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเครื่องจักรในการผลิตไลน์ใหม่ ซึ่งจะเป็นไลน์การผลิตที่ 3 ในระบบออโตเมชั่น ที่สามารถลดการใช้แรงงานและสามารถผลิตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1/2565 นอกจากนี้ยังมีแผนขยายการลงทุนในคลังสินค้าเพื่อรองรับความต้องการสินค้าช่วงไฮซีซั่น ที่มีความต้องการสินค้ามากกว่าช่วงเวลาปกติ 2 – 3 เท่าตัว ซึ่งคลังสินค้าดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2565
“บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีการเพิ่มไลน์การผลิตภายใต้แบรนด์ “ตราช้าง”รวมถึงสินค้าภายใต้แบรนด์ “Pegasus” ซึ่งเป็นตราสินค้าของบริษัทเอง ที่ผลิตอุปกรณ์การเกษตร อาทิ ใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย โครงผาล ใบดันดิน ใบเกลียวลำเลียง ซึ่งความต้องการใช้สินค้าดังกล่าว มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงดีมานด์ของกลุ่มลูกค้าเกษตรที่มีเข้ามาต่อเนื่อง” นางสาวติยาภรณ์ กล่าว
ด้านนายอุกฤษณ์ วนโกสุม รองกรรมการผู้จัดการ KWM กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตั้งเครื่องสกัดกัญชง-กัญชา รวมถึงพืชสมุนไพรว่า ปัจจุบันบริษัทฯได้พัฒนาเครื่องสกัดเป็นรุ่นที่ 2 KWM EXTRACTOR 2.0 ภายใต้รูปแบบการสกัด Supercritical CO2 Extraction (ในกลุ่มธรุกิจ SOIL – OIL – EXTRACTION ) ที่การันตีศักยภาพเครื่องสกัดสัญชาติไทยที่เปรียบเท่าเครื่องสกัดจากต่างประเทศ โดยใช้ระยะเวลาในการสกัด 4 – 6 ชั่วโมง และสารสกัดต่างๆที่ออกมามีคุณภาพสูง รวมถึงยังสามารถนำมาใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ ประเภทคอสเมติก ได้เลยทันที
นอกจากนี้บริษัทฯได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับ บริษัท เศวตวรวรรณ อินเตอร์เนชั่นแนลเทรด แอนด์ คอนเซาท์แทน จำกัด เพื่อนําเทคโนโลยีการสกัดแบบ Supercritical CO2 ด้วยเครื่อง KWM EXTRACTOR 2.0 โดยทางเศวตวรรณาฯจะนำเครื่องสกัดดังกล่าว ไปใช้ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตการสกัด ภายใต้ความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งจะมีการส่งมอบเครื่องสกัดภายในไตรมาส 4 นี้เช่นเดียวกัน และในอนาคตจะมีสัญญาเครื่องสกัดเพิ่มเติม ภายในโครงการปลูกระดับ commercial scale ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นการยกระดับคุณภาพสารสกัดกัญชง-กัญชา ในประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล และสามารถต่อยอดสู่สารสกัดสมุนไพรไทยตัวอื่นๆในอนาคต
“ภายในไตรมาส 4/2564 นี้ บริษัทฯเตรียมส่งมอบเครื่องสกัดให้กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ 10 เครื่องตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มลูกค้ารายใหม่อีกว่า 10 ราย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้” นายอุกฤษณ์ กล่าว
สำหรับธุรกิจที่ KWM ได้ขยายการลงทุน โดยการแตกไลน์เพื่อการต่อยอดธุรกิจเรื่องสกัดสอดรับจากการผลิตเครื่องสกัดว่า สำหรับบริษัท เคดับบลิวเอ็ม แคนนาบิเทค จำกัด โดยบริษัทฯถือหุ้น 100% มุ่งเน้นให้บริการในการรับสกัดกัญชง และกัญชา (Cannabis) , บริษัท แล็บแอคทีฟ จำกัด KWM ถือหุ้น 51% ดำเนินธุรกิจสกัดและผลิตเครื่องสำอางและสกินแคร์ และ บริษัท เคดับบลิวเอชบี จำกัด KWM ถือหุ้น 51 % เน้นดำเนินธุรกิจสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพร รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าจากพืชสมุนไพรไทย ปัจจุบันได้ดำเนินการการจัดตั้งบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าเริ่มเข้าสู่กระบวนการการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ได้ตามแผนที่วางไว้
อย่างไรก็ตามจากแผนกลยุทธ์ในการแตกไลน์ธุรกิจ ภายใต้การดึงคู่ค้าร่วมเป็นพันธมิตรถือว่าเป็นการสร้าง Strategic Partner ร่วมกัน โดยนำจุดแข็งของแต่ละบริษัทมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำโดยการนำนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรจากดินสู่สารสกัด ภายใต้ความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของ KWM เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต