“ครม.” รับทราบผลเจรจาการบิน “ไทย-คาซัคสถาน” หนุนความคล่องตัว 2 ฝ่าย
ครม. รับทราบ MOU ผลการเจรจาเส้นทางการบินระหว่างประเทศไทย-ประเทศคาซัคสถาน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในระดับสายการบินและระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทยกับคาซัคสถาน โดยได้รับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-คาซัคสถาน พร้อมให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย และมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต ยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป
“สาระสำคัญของบันทึกทำความเข้าใจ คือ การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันในลักษณะดังนี้คือ ร่วมกันกับสายการบินระหว่างคู่ภาคี, ร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สาม หรือร่วมกันกับสายการบินของภาคีคู่สัญญาเดียวกันได้ โดยการนับหักสิทธิความจุความถี่จะหักจากสิทธิของประเทศที่กำหนดสายการบินผู้ดำเนินบริการเท่านั้น (Operating Airline)”
สำหรับใบพิกัดเส้นทางบิน สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินตามเส้นทางบินดังต่อไปนี้ สำหรับประเทศไทย จุดใดๆ ในไทย-จุดระหว่างทาง 2 จุดที่จะตกลงกัน-อัลมาตี อัสตานา คารากานดี ซิมเคนท์ และจุดในคาซัคสถานอีก 2 จุดที่จะตกลงกัน-จุดพ้น 2 จุดที่จะตกลงกัน ส่วน คาซัคสถาน จุดใด ๆ ในคาซัคสถาน-จุดระหว่างทาง 2 จุดที่จะตกลงกัน-กรุงเทพ ภูเก็ต อู่ตะเภา กระบี่ และจุดในไทยอีก 2 จุด ที่จะตกลงกัน-จุดพ้น 2 จุดที่จะตกลงกัน
ส่วนการแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดนั้น แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะกำหนดสายการบินสายหนึ่งหรือหลายสายเพื่อดำเนินบริการตามที่ตกลง ด้านความจุความถี่นั้นมีดังนี้ กรุงเทพ-อัลมาตี : 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพ- อัสตานา : 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และช่วงเส้นทางอื่นใด : 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ต่อช่วงเส้นทาง
ขณะที่ พิกัดอัตราค่าขนส่ง สายการบินจะต้องกำหนดพิกัดอัตราค่าขนส่งโดยตั้งอยู่บนข้อพิจารณาหรือปัจจัยต่าง ๆ ทางการค้าในตลาดระดับที่สมเหตุสมผล โดยสายการบินไม่ต้องขอใช้อัตราค่าขนส่งที่ตนเองกำหนดต่อเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีคู่สัญญาอีกฝ่าย
ทั้งนี้ ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิแทรกแซงการกำหนดอัตราค่าขนส่งของอีกฝ่ายได้ เมื่อพบการกำหนดค่าขนส่งที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขันในตลาด โดยการแจ้งภาคีคู่สัญญาทราบถึงเหตุผลความไม่พอใจ และจัดให้มีการปรึกษาหารือกันขณะที่ความปลอดภัยด้านการบินนั้น แต่ละประเทศสามารถปรึกษาหารือ และตรวจสอบอีกฝ่ายเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในการทำการบิน ทั้งในส่วนของอากาศยาน ลูกเรือ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง
โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการเจรจาดังกล่าวนั้น การปรับปรุงสิทธิการบินและข้อบทภายใต้ความตกลงฯ ที่เสนอมาในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนให้ปฏิบัติการการบินของทั้งสองฝ่ายมีความคล่องตัว และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนการตลาดและการให้บริการของสายการบินเกิดความคุ้มทุนมากขึ้น โดยสายการบินทั้งสองฝ่ายสามารถทำความร่วมมือในการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันเพื่อขยายเครือข่ายทางการบิน และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสายการบินของทั้งสองฝ่ายและต่อทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ เช่น การขนส่งผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การค้า และการบริการระหว่างกัน และยังเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในระดับสายการบินและระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศต่อไป