5 โบรกปักธง SVT โกรทสต๊อก ชี้ “Vending Machine” ดันมาร์เก็ตแชร์เด่น ชูเป้าสูง 3.50 บ.

5 โบรกปักธง SVT โกรทสต๊อก ชี้ “Vending Machine” สร้างรายได้สัดส่วนราว 98% ของรายได้ทั้งหมด หนุนมาร์เก็ตแชร์เด่น อีกทั้งเล็งขยายเข้ากลุ่ม CLMV ตามยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต ชูเป้าสูง 3.50 บ. สำหรับวันเข้าเทรด 5 ต.ค.นี้ หมวดกลุ่ม Commerce


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SVT ซึ่งเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine: VM) ในประเทศไทยแบบครบ เบื้องต้นยอดจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่มีการเสนอขายจำนวนไม่เกิน 200 ล้านหุ้น กำหนดราคาหุ้นละ 2.54 บาท พบว่าช่วงเปิดจองระหว่างวันที่ 22 – 23 และ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา กระแสตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายบุคคลอย่างล้นหลาม ก่อนจะเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่ม Commerce ในวันที่ 5 ต.ค.นี้

ทั้งนี้มีเสียงสะท้อนส่วนใหญ่มองว่า SVT เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีกเติบโตตามการบริโภคของประชาชนในประเทศ และข้อโดดเด่นต่อมาคือเป็นธุรกิจ “Vending Machine” เป็นตลาดที่เพิ่งเริ่มเติบโตในประเทศไทย สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาลดการสัมผัสภายหลังเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และที่สำคัญคือสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

ด้านนายพิศณุ โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการสายงานการผลิต SVT เปิดเผยว่า ในส่วนของโครงสร้างรายได้หลักของบริษัท ประกอบด้วย 3 ช่องทาง ได้แก่ (1) รายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ซึ่งมีสัดส่วนราว 98% ของรายได้ทั้งหมด (2) รายได้จากโรงงาน Refurbished ที่สามารถเปลี่ยนและปรับปรุงตู้จำหน่ายสินค้าเก่าให้กลายเป็นตู้สภาพใหม่ รวมถึงการเป็นตัวแทนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั้งจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้เริ่มมีโมเดลให้เช่าตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอีกด้วย และ (3) รายได้จากการขายโฆษณาผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ปัจจุบันมีทั้งหมดราว 14,000 ตู้กระจายทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 1%

สำหรับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 14,000 ตู้กระจายในหลายพื้นที่ในประเทศไทย แบ่งเป็นบริการ 4 รูปแบบหลัก คือ (1) เครื่องจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่ม (Can & Bottle) (2) เครื่องจำหน่ายสินค้าแบบบานกระจก ( Glass Front ) (3) เครื่องจำหน่ายสินค้าประเภทถ้วยแบบร้อนเย็น (Cup Hot and Cold) และ (4) เครื่องสำหรับขายอาหารกึ่งสำเร็จรูป ( Noodle)

อนึ่งสินค้าที่จำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องดื่ม, ขนมขบเคี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ขนมปังเบอเกอรี่,อุปกรณ์เสริมสำหรับมือถือ และหน้ากาก เป็นต้น

อย่างไรก็ดีบริษัทเลือกวางทำเลที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาทิ หน่วยงานราชการ โรงแรม โรงเรียน สถานีบริการน้ำมัน แต่หลักๆ จะอยู่ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมกว่า 70% ตู้ส่วนมากครอบคลุมโซนภาคกลางเป็นหลักทั้ง 26 จังหวัด และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามหัวเมืองใหญ่ เช่น จังหวัดนครราชศรีมาและขอนแก่น ตามแผนช่วง 2 ปีข้างหน้าตั้งเป้าขยายเพิ่มมุ่งเน้นจังหวัดภาคเหนือที่มีนิคมอุตสาหกรรม, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ จังหวัดในภาคใต้ใกล้โรงงานยางพารา ส่วนอีก 30% จะอยู่ในพื้นที่เปิด

ส่วนแผนเสนอขายหุ้น IPO ของ SVT ครั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำไปใช้ในการจัดหาเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อขยายการติดตั้งให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะซื้อเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อขยายการติดตั้งการให้บริการเป็น 20,000 เครื่องในปี 2566 และจะมีการขยายสาขาเพิ่มราว 3 สาขา ในภาคเหนือ อิสาน ใต้ ภายใน 3 ปี ซึ่งจากเดิมที่มีอยู่ 11 สาขา ซึ่งคาดหวังว่าจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการขยายการให้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเข้าสู่ประเทศกลุ่ม CLMV เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตที่วางไว้เมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันหากมาดูจากบทวิเคราะห์สำนักต่างๆ ประเมินแนวโน้มผลประกอบการของ SVT ว่าทิศทางจะไปอย่างไรต่อไป เช่นเดียวกับทางด้านผู้บริหารกล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่ และจะเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจตามกระแสตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายบุคคลที่เข้าซื้อหุ้น IPO หมดเกลี้ยงก่อนที่จะเข้าซื้อขายในตลาดรองหรือไม่

โดยเริ่มจาก บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ มองว่าความน่าสนใจของ SVT อยู่ที่การเป็นผู้นำในธุรกิจขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติครบวงจร มีโรงงานปรับปรุงเป็นของบริษัทเอง และมีประสบการณ์ในธุรกิจมากกว่า 20 ปี ทิศทางธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตสูง โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 2564 – 2565  โตเพิ่ม 43% ค่าเฉลี่ยเด่นกว่าภาพรวมกลุ่มค้าปลีกเพิ่ม 20% ทั้งนี้ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ SVT ในปี 2565 อยู่ ที่ 3.50 บาท/หุ้น

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การรุกธุรกิจคาดนำไปสู่การเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคต ซึ่งโครงการขยายจำนวนเครื่อง VM เพื่อเพิ่มจำนวนเครื่อง Smart ที่รองรับการจ่ายชำระค่าสินค้าแบบไร้เงินสด การขายและให้เช่า รวมถึงผ่านโครงการใหม่คือการขาย Franchise จะช่วยขยายฐานลูกค้าได้รวดเร็วขึ้นจากการเข้าไปยังทำเลใหม่ๆ ทั้งการติดตั้ง VM ให้เป็นแบบ Smart มากขึ้นคาดช่วยตอบสนอง Lifestyle ผู้บริโภคได้ดี และนำสู่การเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคต

ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยคาดผลประกอบการปี 2564 เจอแรงกดดันจากการระบาดของ COVID-19 ในวงกว้าง หากความพยายามปรับธุรกิจทำให้รายได้รวมและกำไรสุทธิแตะที่ 1,950 ล้านบาท และ 70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.30% และเพิ่มขึ้น 26.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะรายได้รวมในปี 2565 และ 2566 ฟื้นตัวดีขึ้นที่ราว 25.00% ต่อปี และมีกำไรอยู่ที่ 114 ล้านบาท และ 161 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.20% และเพิ่มขึ้น 41.00% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการประเมินราคาเป้าหมายปี 2565 ของ SVT โดยอิงระดับ P/E ที่ 20.40 เท่า อิงกับค่า P/E เฉลี่ยของกลุ่ม COMM ที่มีมูลค่าตลาดน้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยใช้ค่าเฉลี่ยช่วงปี 2561 ถึง 2564 ซึ่งมองว่าได้คำนึงถึงปีดำเนินธุรกิจปกติก่อนการระบาดของ COVID-19 เข้ามา ทั้งนี้จะได้ค่า P/E เฉลี่ยที่เหมาะสมอยู่ที่ 20.40 เท่า ส่งผลให้ราคาเป้าหมายของปี 2565 อยู่ที่ 3.33 บาท/หุ้น

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลประกอบการ กำไรสุทธิในปี 2564 จะมีทิศทางเติบโต 38% จากงวดเดียวกันของปีก่อน พร้อมกับประเมินมูลค่าหุ้น SVT ไปในปี 2565 โดยคาดว่ากำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นจะเติบโตได้ 58% เทียบกับปีนี้บนสาระสำคัญคือการทยอยเปิดประเทศและกำลังซื้อกลับมาฟื้นตัวได้เกือบเต็มที

อย่างไรก็ตาม SVT มีแผนการเพิ่ม VM เพื่อเพิ่มจุดขายเฉลี่ย 14% ต่อปีในช่วง 2564 – 2566 จะส่งผลบวกทางตรงต่อการเติบโตของธุรกิจ และส่วนแบ่งตลาด ซึ่งคาดว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายและทยอยเปิดประเทศกำลังซื้อจากในและนักท่องเที่ยวจะชัดเจนมากในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ประเมินมูลค่าหุ้นที่ 3.39 บาท

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรสุทธิปี 2564 – 2566 เติบโตเฉลี่ยสะสม 49% ค่าเฉลี่ยคาดการณ์ผลประกอบการ SVT ปี 2564 – 2566 เติบโตโดดเด่นที่ระดับโดยเฉลี่ย 49% ค่าเฉลี่ยโดยได้รับแรงสนับสนุนจากส่วนของยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 21% ในปี 2565 และ 16% ในปี 2566 จากการฟื้นตัวของผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด19 คลี่คลายลง และรายได้จากค่าโฆษณาบนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบ smart,

นอกจากนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการรุกตลาด smart vending machine และการขยายพื้นที่ติดตั้งเครื่อง VM ในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้าและโรงพยาบาล และ SG&A ของบริษัทฯ ที่ลดลงจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ประเมินมูลค่าด้วยราคาพื้นฐานที่ 3.20 บาท/หุ้น

สำหรับ บริษัท หลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทจะเติบโตเฉลี่ยที่ระดับร้อยละ 39% ในช่วงปี 2564 – 2566 หนุนจาก (1) การขยายจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าของทางบริษัท ที่วางเป้าไว้กว่า 20,000 ตู้ภายในปี 2566 จากปัจจุบันที่ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 13,549 ตู้ (2) การฟื้นตัวของยอดขายต่อตู้จากการในภายภาคหน้าหลังปัญหา Covid-19 ลดลง (3) การประหยัดต่อขนาด จะหนุนให้อัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งตัว จากร้อยละ 3.30 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 5.20 ในปี 2566 ดังนั้นประเมินหุ้น SVT ด้วยราคาเหมาะสมสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 3.10 บาทต่อหุ้น อิง P/E อิง 36 เท่า และ 21.80 เท่าสิ้นปี 2565 เมื่อกำไรและรายได้ฟื้นตัว

 

 

Back to top button