ดีเดย์ SVT เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งทะลุ 3.50 บ. จับตากำไรปี 64-66 โตเฉลี่ย 43%
ดีเดย์ SVT เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งทะลุ 3.50 บ. จากราคา IPO ที่ระดับ 2.54 บ. จับตาพื้นฐานแกร่ง โบรกฯ คาด 3 ปี (ปี 64-66) กำไรโตเฉลี่ย 43% รับรายได้เพิ่ม หลังการบริโภคทยอยฟื้นตัว ชูจุดเด่นผู้นำในธุรกิจขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ต.ค.2564) หุ้นบริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SVT เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มบริการ หมวดพาณิชย์ เป็นวันแรก โดย SVT เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “SUNVENDING” โดยจำหน่ายสินค้าต่างๆ ทั้งเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยวและขนมปังเบเกอรี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่ติดตั้งให้บริการจำนวน 13,884 เครื่อง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 26 จังหวัด โดยสัดส่วนของทำเลที่ตั้งประมาณ 70% อยู่ในพื้นที่โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และอยุธยา
นอกจากนี้บริษัทมีการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยให้บริการพื้นที่โฆษณาบนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ รวมไปถึงการที่บริษัทมีโรงงานปรับปรุงสภาพและประกอบเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ช่วยให้บริษัทสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาต้นทุนของตู้เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าตามความต้องการ
ทั้งนี้ SVT มีทุนจดทะเบียน 700 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญเดิม 500 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในระหว่างวันที่ 22-23 และ 27 กันยายน 2564 ในราคาหุ้นละ 2.54 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 508 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,778 ล้านบาท โดยมี บริษัท หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ
ด้าน นางอาภัสรา ภาณุพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ SVT เปิดเผยว่า บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หุ้น SVT จะได้เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการจัดหาเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะติดตั้งให้บริการให้ครบ 20,000 เครื่อง ภายในปี 2566
อีกทั้งบริษัทได้ปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเป็นตู้อัจฉริยะ หรือ ตู้ Smart ในการตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้ระบบ cashless มากขึ้น โดยคาดว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นตู้ Smart ในสัดส่วน 75% ของจำนวนตู้ทั้งหมดภายในปี 2566 นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนในการขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 3 สาขาในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ รวมถึงการขยายไปสู่ธุรกิจให้เช่าตู้และธุรกิจแฟรนไชส์อีกด้วย ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัทจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และคงความเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทย
นอกจากนั้นบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหักเงินสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับแผนการลงทุน สภาพคล่องกระแสเงินสด ผลการดำเนินงาน และความเหมาะสมอื่นๆ ในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
ด้านบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ SVT ปี 2565 ที่ 3.50 บาท/หุ้น ด้วยวิธี DCF เทียบเท่า PER ปี 2565 ที่ระดับ 22.1 เท่า คิดเป็น -2.0 SD ของ PER กลุ่มค้าปลีก แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ย PER ของธุรกิจคล้ายกัน (FSMART) เล็กน้อย
สำหรับจุดเด่นของ SVT ที่การเป็นผู้นำในธุรกิจขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติ มีความได้เปรียบจากชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและศักยภาพในการแข่งขันสูงจากการมีโรงงาน Refurbishment เป็นของบริษัทเอง มีฐานรายได้หลัก 70-80% มาจากกลุ่มพื้นที่ปิดและอยู่ระหว่างปรับปรุงตู้ให้บริการที่ทันสมัยขึ้นรองรับกระแสสังคมไร้เงินสด
โดยคาดกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 75 ล้านบาท ฟื้นตัวเด่น 35% (จากปี 2563 ที่ลดลง 41%) เพราะรายได้กลับมาขยายตัว 10% และอัตรากาไรสุทธิดีขึ้น +70bps เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามรายได้ค่าโฆษณามากขึ้นและค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ลดลง หนุนคาดกำไรสุทธิช่วงปี 2564-2566 โตสูงเฉลี่ย 43% ดีกว่าปี 2563 ที่หดตัว -41% และคาดการณ์การเติบโตกลุ่มค้าปลีกเฉลี่ย 20% CAGR ปี 2564-2566
ทั้งนี้คาดรายได้ปี 2564-2566 จะค่อยๆ เร่งตัวขึ้นเป็นเติบโต 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน เติบโต 24% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเติบโต 22% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ สูงกว่าการเติบโตในอดีต 2%CAGR ปี 2561-2563 โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจาก 1) แรงกดดันจากการระบาดของโควิด 19 ที่คาดจะค่อยๆ ลดลง คาดการบริโภคและการท่องเที่ยวช่วงปลายปี 2564-2566 จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติที่ยังมีสูงจากสัดส่วนตู้ให้บริการต่อประชากรของไทยที่ยังต่ำ, การขยายตัวของสังคมเมืองและระบบขนส่งมวลชน
รวมทั้ง 2) จำนวนตู้อัตโนมัติที่ให้บริการมากขึ้นเป็น 20,000 เครื่องในปี 2566 จากสิ้นปี 2563 ที่มี 13,339 เครื่อง (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14%CAGR) และ 3) สัดส่วนของตู้อัตโนมัติแบบ Smart ที่สูงขึ้นเป็น 75%ของตู้ทั้งหมด จากสิ้นปี 2563 ที่มีสัดส่วนเพียง 4% ผลักดันคาดยอดขายเฉลี่ยต่อตู้ต่อวันจะค่อยๆ กลับมา โดยในปี 2565 คาดโต 8% เมื่อเทียบจากปีก่อน และในปี 2566 เติบโต 6% เมื่อเทียบจากปีก่อน