“ดาวโจนส์” พุ่งแรง 300 จุด รับแรงซื้อกลับกลุ่มเทคโนโลยี-พลังงาน
“ดาวโจนส์” พุ่งกว่า 300 จุด ทะลุแนว 34,000 จุดในวันนี้ รับแรงซื้อกลับกลุ่มเทคโนโลยี – พลังงาน หลังดิ่งหนักวานนี้ จากนลท.เทขายหลังวิตกบอนด์ยีลด์พุ่งและความกังวลรัฐบาลสหรัฐอาจเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 300 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทฟื้นตัวขึ้น หลังดิ่งลงอย่างหนักวานนี้
โดย ณ เวลา 21.14 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,310.31 จุด บวก 307.39 จุด หรือ 0.9%
สำหรับดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า รัฐบาลสหรัฐอาจเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้
ด้านหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นในการซื้อขายวันนี้ โดยราคาหุ้นเฟซบุ๊กพุ่งขึ้น 1% หลังจากทรุดตัวลง 5% เมื่อวานนี้ ขณะที่การให้บริการของเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรมและ WhatsApp ประสบปัญหาระบบล่มทั่วโลก
ส่วนหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่างดีดตัวขึ้นในการซื้อขายวันนี้
ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นเช่นกัน ตามการทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน ขานรับผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส
โดยข้อมูลจาก “Stock Trader’s Almanac” ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักฟื้นตัวขึ้นในเดือนต.ค. และปรับตัวขึ้นจนถึงสิ้นปี โดยเดือนต.ค.ถือเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงขาขึ้นตามฤดูกาลของราคาหุ้น ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้นเฉลี่ย 0.80% ในเดือนต.ค. ก่อนที่จะพุ่งขึ้น 1.60% ในเดือนพ.ย. และ 1.50% ในเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ดีสำหรับไตรมาส 4 ในปีนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเผชิญการปรับฐานจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้, ความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ, การที่สภาคองเกรสอาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เฟดใช้ในการพิจารณาการปรับลดวงเงิน QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 450,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 4.20% สู่ระดับ 7.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 7.05 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้การนำเข้าพุ่งขึ้น 1.40% สู่ระดับ 2.87 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 0.50% สู่ระดับ 2.14 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2562
นอกจากนี้สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้น 10.80% สู่ระดับ 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2564 สหรัฐขาดดุลการค้ามากที่สุดต่อประเทศคู่ค้า 5 ชาติ ได้แก่ จีน เม็กซิโก เวียดนาม เยอรมนี และญี่ปุ่น