ชิปขาด! กระทบ “ซัพพลายเชน” วงกว้าง กดดัน “กลุ่มอิเล็กฯ” แหล่งธุรกิจกลางน้ำ

ชิปขาด! กดดัน “กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์” ระยะสั้น ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจกลางน้ำ กระทบ “ซัพพลายเชน” วงกว้าง สู่กลุ่มสายพานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน จนถึงสินค้ากลุ่มไอที, กลุ่มรถยนต์และลามไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตร ที่ต้องพึ่งพาชิป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่สร้างความเสียหายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และยากต่อการยับยั้งในตลาดนั้น เกิดขึ้นจากหลายๆปัจจัย แต่หากจะให้ย้อนกลับไปหาแก่นแท้ของรากปัญหาที่แท้จริงแล้ว อาจหนีไม่พ้นประเด็นของโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกมาอย่างยาวนานนับจากต้นปี 2563 จนมาถึงปัจจุบันที่ยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย

ด้านนายแมตต์ เมอร์ฟีย์ ซีอีโอ บริษัท มาร์เวล เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ได้กล่าวถึง ปัญหาการขาดแคลนชิปซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตในหลายอุตสาหกรรมโดยคาดว่าปัญหานี้จะกินเวลายาวนานจนถึงปี 2565 และมีแนวโน้มที่จะลากยาวต่อไปอีกในอนาคต และยังกล่าวต่อว่าตอนนี้ทุกตลาดปลายทางสำหรับเซมิคอนดักเตอร์กำลังขาดแคลนชิป และไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป นี่จะเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดมาก รวมถึงในปี 2565

อย่างไรก็ดีในขณะที่ผู้ผลิตชิปหลายรายได้ประกาศแผนการที่จะขยายกำลังการผลิตของโรงงาน แต่ความเคลื่อนไหวนี้จะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2566 – 2567 ดังนั้นภาคธุรกิจควรเตรียมรับมือกับช่วงเวลาที่ขาดแคลน

ขณะที่ ลิซ่า ซู ซีอีโอของ AMD กล่าวว่า ได้ผ่านวงจรที่มีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่อุปสงค์มีมากกว่าอุปทานหรือจะเป็นในทางกลับกัน แต่ครั้งนี้มันต่างออกไป และคาดว่าครึ่งแรกของปี 2565 เซมิคอนดักเตอร์จะอยู่ในภาวะตึงตัว แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีจะทุเลาลงเมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 18 – 24 เดือนในการฟื้นฟูการผลิต และในบางกรณีอาจนานกว่านั้น

โดยสอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายรายที่เชื่อว่า ปัญหาชิปเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดขาดแคลนนี้น่าจะกินระยะเวลา และสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อไปเป็นเวลาเกือบทั้งปี กว่าที่ภาคผู้ผลิตจะกลับมาผลิตชิ้นส่วนชิปป้อนให้กับรัฐต่างๆได้ตามเป้าหมายและความต้องการเช่นเดิม และอาจจะต้องการระยะเวลามากกว่านั้นอย่างน้อยอีก 6 เดือนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสต๊อกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ได้ในระดับเกณฑ์ปกติของบริษัท

ทั้งนี้ในที่นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องอุปทานกรณีปัญหาการขาดแคลนชิป แต่สถานการณ์เกิดขึ้นจริงกับภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ในสเกลระดับโลกที่กลายเป็นวิกฤตใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างผลกระทบสะเทือนตั้งแต่สายพานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อย่างตู้เย็น ไมโครเวฟ ลุกลามไปจนถึงสินค้ากลุ่มไอที สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป นาฬิกาอัจฉริยะ หรือแม้กระทั้งสินค้าในกลุ่มรถยนต์ และลามไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตร ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจปศุสัตว์มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องจักรที่ต้องพึ่งพาชิป เป็นต้น

โดยความเดือดร้อนเห็นได้ชัดจากขนาดยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยี และรถยนต์ ออกมาเรียงแถวต่อคิวกันยอมรับว่าพวกเขาได้รับผลกระทบหนักนั่นแสดงว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นย่อมมีระดับความรุนแรงที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับช่วงก่อนหน้าจากข้อมูลบทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน Semiconductor (CHIP) กระทบ Supply Chain ไปในหลายอุตสาหกรรมทั้ง Smart phone (Apple มีปัญหาของขาดตลาด ไม่สามารถผลิตได้ทันขาย) และกระทบ Automotive แต่อย่างไรก็ตามทางฝ่ายมองลบระยะสั้นต่อกลุ่มอิเล็กเทรอนิกส์ เพราะ Demand ชิ้นส่วนแข็งแกร่งมาก

รวมทั้งหลายค่ายรถยนต์ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เริ่มส่งสัญญาณชะลอการผลิตรถยนต์ อาทิ  Volkswagen, Ford, Fiat Chrysler, Toyota, Nissan และ Honda ภายหลังขาดแคลนชิป ซึ่งสาเหตุเกิดจาก

1.นับตั้งแต่เกิด Trade War ระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วน Semiconductor ในจีนได้ลดกำลังการผลิตลงตั้งแต่ปี 2562

2.ในปี 2563 ประสบปัญหาโควิด-19 คำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม Auto ยิ่งทำให้ผู้ผลิตลดกำลังการผลิตลง

3.ผลผลิตชิปส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับ Consumer Electronics และเมื่อผลิตรถยนต์กลับมา Reopen และเร่งการผลิตอีกครั้ง ทำให้ประสบปัญหาชิปไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ระยะสั้นเป็นลบกับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ DELTA, KCE, HANA, SMT และ SVI เป็นต้น เพราะเป็นผู้ผลิตกลางน้ำและเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนเป็นหลัก ซึ่งไม่มีวัตถุดิบต้นน้ำเป็นของตัวเอง ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลักต้นทุนให้กับลูกค้านั่นเอง

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องใช้ชิป เป็นวัตถุดิบในการผลิต Power Supply จึงถูกกระทบทางตรงในแง่วัตถุดิบขาดแคลน ลัต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น

บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมองถูกกระทบทางอ้อม เพราะการที่ค่ายรถยนต์ชะลอการผลิต อาจกระทบต่อคำสั่งซื้อ PCB ที่เป็นวัตถุที่ต้องใช้ร่วมกับชิป

บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ซึ่งเป็นผู้ประกอบ IC และ PCBA อาจถูกกระทบจาก Lead Time ที่ยาวขึ้น และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบ

บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT  รวมทั้ง บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI  ซึ่งเป็นผู้รับจางประกอบชิ้นส่วนและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ IC PCBA และ Box Build ซึ่งอาจรับผลกระทบทั้งทางตรง คือราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และทางอ้อม คือลูกค้าประสบปัญหาขาดแคลนชิป

 

 

 

 

Back to top button