“กรมชลฯ” สั่งเฝ้าระวังพายุ “คมปาซุ” 13-14 ต.ค.นี้ หวั่นฝนตกหนัก-น้ำท่วม

“กรมชลฯ” สั่งเฝ้าระวังสภาพอากาศ-สถานการณ์น้ำจากพายุโซนร้อน "คมปาซุ" ที่จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน 13-14 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2564 จะอ่อนกำลังลง และทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ประกอบกับในช่วงวันที่ 12 – 16 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่นั้น

ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) แล้วพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในช่วงวันที่ 13 – 20 ตุลาคม 2564 ดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอคูเมือง, จังหวัดสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม, จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล

ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอท่าเรือ, จังหวัดสระบุรี  อำเภอเมืองสระบุรี, *แม่น้ำลพบุรี ได้แก่ จังหวัดลพบุรี  อำเภอเมืองลพบุรี, *แม่น้ำท่าจีน  ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอสองพี่น้อง

ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, จันทบุรี และตราด

ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, ราชบุรี, และเพชรบุรี

ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง และพังงา

นอกจากนี้เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างฯ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครราชสีมา, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และสกลนคร

ภาคตะวันออก ที่จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด

ภาคกลาง ที่จังหวัดนครสวรรค์, ลพบุรี และสระบุรี

ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี, ราชบุรี และเพชรบุรี

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศรวมทั้งสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ พิจารณาปรับการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ

รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำล่วงหน้า ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

Back to top button